ดร.สุเมธ กล่าวถึงคำว่า ความดี ในงาน มอบรางวัล คนดีประเทศไทย ปีที่ 12

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงคำว่า ความดี ในงาน มอบรางวัล คนดีประเทศไทย ปีที่ 12 ว่าความหมายที่แท้จริงนั้น คืออะไร ทำไม ต้องทำความดี

“ความดี” คำนี้นั้นกำกวม

“ความดี” คำนี้นั้นทำคนเมามาย

อย่างไร…

เมื่อวานนี้ (2 มี.ค. 65) มูลนิธิคนดีฯ ร่วมกับ ซีพี ออลล์ และสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จัดงานมอบรางวัล “คนดีประเทศไทย ปีที่ 12” ประจำปี 2563-2564 เพื่อเชิดชูเหล่าคนดี ที่เสียสละ ทุ่มเท ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทย

โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานมอบรางวัล

ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงคำว่า “ความดี” เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความหมาย และเหตุผลที่ต้องทำ “ความดี” อีกด้วย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า “ความดี” นั้นมันเป็นยังไง ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า พอกล่าวถึงถ้อยคำต่างๆ เหล่านี้ เราจะเกิดความรู้สึกร่วมกัน คือ ทุกคนปรารถนาอยากให้มี

“แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งที่ดี มีคุณธรรม ต้องทำอย่างไรต่อไป”

“ผมมีความเชื่อนะ จากประสบการณ์ ความดีเปรียบเหมือนกีฬา หากคุณไม่ซ้อมที่จะปฏิบัติความดี คุณก็จะทำความดีไม่ได้”

ความดีนั้น มันต้องมีการซักซ้อมกันตลอดเวลา ให้นำคุณธรรม จริยธรรมมากำหนดจรรยาบรรณ ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรต้องมีจรรยาบรรณเป็นของหน่วยงาน หรือองค์กรนั้นๆ

ลองถามตัวเองว่า จรรยาบรรณประจำหน่วยของท่านนั้น ท่านจำได้ไหม?

น้อยคนมากนะที่จะท่องได้ จำได้ ทั้งที่ทุกหน่วยงาน ล้วนมีจรรยาบรรณเป็นของตัวเอง แต่เราไม่เคยซักซ้อม จึงไม่มีโอกาสปฏิบัติด้วย ดังนั้น อยากให้ทุกคนได้ฝึกตัวเอง ตื่นมาลองถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ เมื่อวานเราทำอะไร? เพื่อฝึกกระบวนการคิด วิเคราะห์ ไม่ต้องตอบใคร ให้ตอบตัวเอง

ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ยังได้กล่าวอีกว่า “ความดี” คำนี้นั้นกำกวม และบางครั้งทำให้ผู้คนเมามาย

โดย ดร.สุเมธ เล่าว่า ตนนั้นเคยฟังพระเทศน์ครั้งหนึ่ง ท่านบอกว่า “ความดี” จริงๆ คำนี้มันกำกวม แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ อาจเปรียบว่า “คนที่ทำดีอยู่เสมอเปรียบได้กับการทำกุศลเสมอ”

และ “ความดี” ทำคนเมามายได้

บางคน “ทำความดีเพื่อสร้างความดี” สร้างภาพให้คนชมเชย เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเราทำดี นี่คือ กิเลสแล้ว

ซึ่งคำว่า “กุศล” คำนี้ชัดเจนกว่า เพราะมันคือ ปฏิบัติอยู่บนฐานของสติ และปัญญา เพราะฉะนั้นไม่มีความเมามายเกิดขึ้น เพราะทุกครั้งเราจะตริตรองก่อนทำ ความดีนี่เมามายได้ ทำความดีเพื่อแสดงความดี เพราะเพื่อคนอื่นเห็นว่าเราทำดี นี่คือกิเลสแล้ว เพราะจิดใจไม่ได้เอยากทำ แต่ทำเพราะอยากให้คนอื่นเห็น สร้างภาพให้คนชมเชย

เวลาพูดถึงความดี เรามักนึกถึงผลประโยชน์ ทำความดีแล้วได้อะไร ให้คิดเสียว่า ทำเพื่อสังคม ง่ายๆ สั้นๆ อะไรที่เป็นประโยชน์ ทำแล้วเกิดประโยชน์ ประโยชน์นั้นจะทำให้เกิดความความสุข สังคมที่เกิดประโยชน์ ก็จะมีแต่ความสุข สังคมที่ไร้ประโยชน์ ก็จะมีแต่ความทุกข์

ดังนั้น “ความดี” ต้องทำจนเป็นนิสัย เสมือนการซักซ้อมในการทำ ไม่ว่าจะเหตุการณ์ใด มันจะเป็นนิสัย ไม่ใช่การทำความดีเพื่อการอื่น แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในสังคม

คลิปอีจันแนะนำ
เสื้อเพื่อน้องตัวแรก! ส่งไกลถึงดูไป #สร้างโรงเรียนเด็กพิเศษ