สภาฯ รับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ เพื่อความเสมอภาค

ที่ประชุม สภาฯ มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ เพื่อความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติ

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต รวม 4 ฉบับ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฎิบัติและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (15 มิ.ย.65) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ และได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในทำนองเดียวกันอีก 3 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรี และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ โดยให้ลงมติแยกทีละฉบับ ซึ่งนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ยอมรับว่า กฎหมายฉบับนี้กระทบต่อกฎหมายอื่น เพราะต้องการให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและสวัสดิการเช่นเดียวกับชายหญิงทั่วไป และจะไม่ส่งผลต่อการสืบสายโลหิตหญิงชาย โดยผู้หญิงสามารถรับรองบุตรได้ สิทธิเด็กยังคงอยู่เช่นเดิม พร้อมยืนยันกฎหมายฉบับนี้เน้นให้เกิดความเท่าเทียม

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ว่า เป็นการรองรับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฎิบัติ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเสนอร่างนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัวและขจัดความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดในครอบครัวหลากหลายทางเพศ เช่น การที่คู่ชีวิตไม่สามารถจัดการทรัพย์สินที่ทำมาร่วมกันได้ สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม สิทธิจัดการแทนผู้เสียหายในการดำเนินคดี และสิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล เป็นต้น

ขณะที่ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงว่า หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์เนื้อหาในร่างกฎหมายของพรรคแตกต่างจากร่างของรัฐบาล พร้อมย้ำว่า คู่ชีวิตในร่างกฎหมายนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนที่รักกันที่ไม่สามารถเป็นคู่สมรสกันได้เพราะขัดกับหลักศาสนา โดย “คู่ชีวิต” เปิดให้กับคนทุกเพศไม่ใช่แค่เพศเดียวกันเท่านั้นแต่เป็นทางเลือกของทุกคู่ชีวิต

จากนั้น เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนหลักการทั้ง 4 ฉบับ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน นำไปสู่การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม พร้อมเสนอแนะในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการให้พิจารณาทุกบริบทของสังคมเพื่อให้กฎหมายใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 25 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา

คลิปอีจันแนะนำ
ฟังจากปาก ชาว LGBTQ มุมมองความเท่าเทียม