นายกฯ ชูสตรี เดินหน้าประเทศ เศรษฐกิจ สังคม มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียม

นายกฯ ชูสตรี เป็นกุญแจสำคัญ ในการขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม พร้อมให้คำมั่น ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และศักยภาพผู้หญิง

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 65) เวลา 17.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจาก 52 ประเทศ โดยนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะได้รับประสบการณ์ดี ๆ จากบรรดาสุดยอดผู้นำสตรีทั่วโลก พร้อมชื่นชมการจัดงานแบบรักษ์โลกมีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในการประชุม สอดคล้องตามหลักการของไทย ซึ่งแสดงได้ว่าไทยพร้อมเดินหน้าร่วมรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ไปพร้อมกับทุกคน

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงสำคัญ รัฐบาลไทยได้ริเริ่ม เดินหน้า และดำเนินการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพของตนเอง รวมถึงการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสตรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ทุกกลุ่มทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้สังคมตระหนักว่า ความเสมอภาคเป็นเป้าหมายที่สังคมต้องการ

นายกรัฐมนตรีระบุว่า สตรีมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้บริโภคและในฐานะผู้ผลิต โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้หญิงกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

หนึ่งในตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือ การส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังนำไปสู่สันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ โดยรัฐบาลเชื่อมั่นในศักยภาพผู้หญิง ได้จัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้และช่องทางการตลาด นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงเป็นผู้สอดส่องดูแล ดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน โดยช่วงโควิด-19 อสม. กว่าล้านคนที่มากกว่า 90% เป็นผู้หญิง ที่คอยดูแลสุขภาพ กระตุ้นเตือนให้คนออกมารับการฉีดวัคซีน

รัฐบาลให้ความสำคัญ และส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในยุคดิจิทัล โดยร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการขึ้น

ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมรับรองเอกสารวาระการดำเนินงานในการสร้างความตระหนักในเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียนร่วมกับผู้นำอาเซียน และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 5 ได้แก่ การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน โดยประเทศไทยยังจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายนนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลตระหนักดีว่ายังมีกลุ่มสตรีที่ไม่สามารถเข้าถึงความเท่าเทียม และพยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งโอกาส และความเท่าเทียมในการพัฒนาความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งการหยุดความรุนแรงในสตรี โดยรัฐบาลหวังเห็นส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเท่าเทียมอย่างมีเอกภาพ

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การเสริมสร้างและพัฒนาบทบาทสตรี ไม่ใช่เรื่องของสตรีฝ่ายเดียว และได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี โดยการสร้างทัศนคติที่ดี ให้มีความเสมอภาค และเท่าเทียมระหว่างเพศ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ลด และขจัดปัญหาจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้พลังสตรีมีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเต็มศักยภาพ เป็นกุญแจสำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาสตรีให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

คลิปอีจันแนะนำ
สาวเล่าฉีดฟิลเลอร์ปาก ปากบวมเป่ง!