ผืนป่า และ สัตว์ป่า เกิดความสมดุล เพราะมี เสือโคร่ง

เสือโคร่ง สัตว์กินเนื้อ ใกล้สูญพันธุ์ ที่ทำให้ ผืนป่า และ สัตว์ป่า เกิดความสมดุล แต่ตัวมันเอง ใกล้สูญพันธุ์ แม้ได้รับความคุ้มครอง

เพราะมี “เสือโคร่ง”

จึงเกิดความสมดุลบนผืนป่าและเหล่าสัตว์ทุกชีวิต

“เสือโคร่ง” ผู้ยืนอยู่บนยอดพีระมิดแห่งพงไพร สัตว์ที่มีคุณค่ากับผืนป่า ไม่ควรค่ามีกับการประดับไว้ตามบ้านเรือนใคร

เสือโคร่ง (Tiger) คือ ชนิดพันธุ์ที่เรียกว่า umbrella species ซึ่งหมายถึง การเป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์และคุ้มครอง นั้นเท่ากับว่า สัตว์ป่าน้อยใหญ่ในพื้นที่ของเสือโคร่ง จะได้รับการอนุรักษ์และปกป้องไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น การดำรงอยู่ของเสือโคร่ง จึงเท่ากับ การดำรงอยู่ของสัตว์ป่านานาชนิดในผืนป่า

เสือโคร่ง อยู่ในวงศ์ Felidae เป็นสัตว์กินเนื้อ (canivora) ทั่วโลก มีเพียง 9 สายพันธุ์ ได้แก่ บาหลี, ชวา, แคสเปียน, อินโด-ไชนีส, เบงกอล, ไซบีเรียน, เซาท์ไชน่า, สุมาตรา และมลายู

และเป็นที่น่าเสียดายที่ 3 สายพันธุ์แรก สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว เหลือไว้เพียง 6 สายพันธุ์หลัง ที่ถึงแม้จะยังไม่สูญพันธุ์ แต่ก็มีจำนวนเหลือน้อยเต็มที

ผลสำรวจ เมื่อปี 2564 พบว่า “เสือโคร่งในผืนป่าไทย” ในธรรมชาติมีประมาณ 177 ตัว เป็นสายพันธุ์อินโด-ไชนีส มีลำตัวขนาดกลาง นน. 130-200 กก. อาณาเขตของเสือโคร่งเพศผู้ กินพื้นที่ราว ๆ 200-300 ตร.กม. ในขณะที่เพศเมียจะอยู่ที่ 60 ตร.กม. ล่าเหยื่อตั้งแต่หมูป่า เก้ง กวาง วัวแดง และกระทิง และนิยมล่าเหยื่อที่มีช่วงอายุโตเต็มวัย

การล่าแต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการกินเหยื่อนาน 3-6 วัน เสือโคร่ง 1 ตัว กินเนื้อประมาณ 3,000 กก./ปี แม้เสือโคร่งจะกินวัวแดง กระทิง ควายป่า หรือแม้แต่ลูกช้าง แต่ก็มีหลักฐานมากพอที่ยืนยันได้ว่า เสือโคร่งกินเผื่อชีวิตอื่นๆ ด้วย

หลักฐานที่ชัดเจนในทุกวันนี้ ก็คือประชากรวัวแดงในหุบเขานางรำ ทับเสลา ของเขตฯห้วยขาแข้ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถ้าเสือโคร่งล่ากินหมด วัวแดงอาหารหลักก็ควรจะน้อยลงสิ เรากลับพบว่าวัวแดงเพิ่มมากขึ้นในหุบทับเสลา จนล้นออกไปถึงทุ่งแฝก

ทำไมเสือโคร่งจึงมีความสำคัญกับผืนป่า?

ทำไมจึงมุ่งเป้าการอนุรักษ์ไปที่ “เสือโคร่ง” ทั้งที่มันเป็นสัตว์กินเนื้อ

WCS Thailand กล่าวถึงความสำคัญของเสือโคร่งต่อระบบนิเวศไว้ว่า

“เสือโคร่ง มีความสำคัญที่โดดเด่นในฐานะผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทและหน้าที่ในการควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป”

รวมทั้งรักษาสายพันธุ์ที่ดีของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ที่อ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง นอกจากนี้ปริมาณ และชนิดเหยื่อของเสือโคร่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งอยู่รอดได้เช่นกัน ด้วยความสัมพันธ์นี้จึงกล่าวได้ว่า “เสือโคร่ง” สามารถเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น เสือโคร่ง จึงได้ชื่อว่าเป็น “7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่ แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง”

ปัจจุบันของเสือโคร่ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)

“สัตว์ป่า แต่ละชนิดล้วนแต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกมันทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลในระบบนิเวศ ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สัตว์ป่าย่อมมีคุณค่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในผืนป่า มิใช่ในกรงเลี้ยง หรือแขวนประดับไว้ตามบ้านเรือนของใคร”

ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และห้วยขาแข้งสืบสาน

คลิปแนะนำอีจัน
ฟังคำสารภาพ 4 พราน ล่า ฆ่า 2 เสือโคร่ง @ป่าทองผาภูมิ