ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล เผย โลมาอิรวดี ทะเลสาบสงขลา ใกล้สูญพันธุ์

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล เผย โลมาอิรวดี ฝูงสุดท้ายที่อาศัยอยู่ใน ทะเลสาบสงขลา ใกล้สูญพันธุ์!

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล เผย ปลาโลมาอิรวดี ที่เหลืออยู่ราว 20 ตัวชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง อาจเป็นฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา!

วันนี้ (04 พ.ค. 65) นางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เผยว่า จากการศึกษาและติดตาม ปลาโลมาอิรวดี พบว่าขณะนี้ใกล้สูญพันธุ์

ซึ่ง ปลาโลมาอิรวดี เป็นโลมาน้ำจืด มีเพียง 5 แห่งในโลก และ 1 ในนั้นอยู่ในประเทศไทย อาศัยอยู่ใน ทะเลสาบสงขลา และน่าจะเป็นแหล่งวิกฤตที่สุดแล้วหากเปรียบเทียบกับที่อื่น

โดยก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนเรื่องราวความเศร้าของโลมาอิรวดีไว้ตอนหนึ่ง ในเฟซบุ๊กว่า

“สมัยก่อนนั้น ความต้องการไม่มาก โลมายังมีความสุข

พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมง เราอยู่ด้วยกันได้ ทว่าคนมีมากขึ้น จับปลามากขึ้น ยังมีการปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ ทำให้เครื่องมือประมงเปลี่ยนไป มุ่งหวังจับปลาบึกโลมา

ปลาโลมา ไม่เคยรู้จักเครื่องมือชนิดใหม่ หลบไม่เป็น หนีไม่รอด ติดอวนจมน้ำตาย และจะสูญสิ้นไปในรุ่นเราตายเหี้ยน หมดสิ้น สูญพันธุ์!

จาก ข้อมูลสถิติการตายของปลาโลมาก่อนหน้านี้ เฉลี่ยใน 1 ปี จะมีปลาโลมาตาย 4-5 ตัว แต่เมื่อปี 2545-2551 มีการปล่อย ปลาบึก ลงทะเลสาบ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ผู้คนจึงหันมาสนใจและเริ่มจับปลาในทะเลสาบ

ส่งผลให้ช่วงปี 2550-2555 มีปลาโลมาตายเฉลี่ยปีละ 10 ตัว

แต่หลังจากนั้น จำนวนการตายของปลาโลมาก็เริ่มลดลง…ไม่ใช่เพราะมีการแก้ปัญหาได้แต่เป็นเพราะปลาโลมาลดลง จนไม่มีเหลือให้ตายแล้ว

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล กล่าวว่า จริงๆศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหน้าที่ติดตามสำรวจประเมิน สถานภาพของ ปลาโลมาอิรวดี ใน ทะเลสาบสงขลา ซึ่งศึกษามาตั้งแต่ปี 2547 หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว จะพบว่า ปลาโลมาในทะเลสาบสงขลามีประมาณ 100 ตัว แต่ปัจจุบันที่เราสำรวจพบ มีประมาณ 14-20 ตัวเท่านั้น

จากการศึกษาและติดตาม ปลาโลมาอิรวดี ที่เหลืออยู่ตอนนี้ อาจเป็นฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา!!!

ล่าสุดเมื่อประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากการติดตามยังพบปลาโลมาอิรวดีอยู่ในแหล่งพื้นที่ที่เป็นเขตอนุรักษ์ เนื้อที่ประมาณ 80,000 ไร่ ตรงไข่แดงของทะเลสาบตอนบน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ พากันลงพื้นที่เพื่อพุดคุยและสร้างความเข้าใจกับชาวประมง ถึงเรื่องของการใช้เครื่องมือประมง ในเขตหวงห้าม ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาโลมาอิรวดี

และจากการหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมมือกันบูรณาการและปกป้อง โดยเริ่มจากการศึกษาว่าผลกระทบและสิ่งที่คุกคามจริงๆ ต่อปลาโลมาอิรวดีคืออะไร ล่าสุดพบว่า “เครื่องมือจับปลาบึก” มีผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดี

ปลาโลมาอิรวดีที่พบเพียง 5 แห่งบนโลก และ 1 ใน 5 นั้น พบที่ประเทศไทย แม้ว่าขณะนี้จะใกล้สูญพันธุ์ แต่จันเชื่อว่าหากเราทุกคนเข้าใจ และร่วมกันอนุรักษ์ อย่างไรเสีย ต้องมีจำนวนปลาโลมาอิรวดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต