สสจ.อุบลราชธานี สั่งปิดโรงงานผลิตน้ำดื่ม ที่มีปลาว่ายอยู่ในถัง

สำนักงานสาธารณสุข จ.อุบลราชธานี สั่งหยุดผลิตน้ำดื่ม จนกว่าจะผ่านมาตรฐาน อย. หลังพบ ปลาว่ายอยู่ในถัง

จากกรณีที่มีการแชร์ภาพปลาในถังใส่น้ำดื่มขนาด 10 ลิตร โดยระบุเป็นน้ำดื่มที่นำมาจำหน่ายให้กับชาวบ้านในตำบลท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ (21ธ.ค.64) ทีมข่าวอีจันได้เข้าไปสอบถามข้อเท็จจริง ที่บ้านท่าลาด ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พบกับนางวิลาวรรณ มัคคะที อายุ 43 ปี ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงข้ามกับนายเปเปอร์ คนที่ได้รับถังน้ำดื่มและภายในมีปลาขนาดเล็กอยู่ 1 ตัว ทราบภายหลังว่าเป็นปลาหมัด หรือปลากัด ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นขนาดเล็ก อยู่ในถังน้ำดื่มขนาด 10 ลิตร นางวิลาวรรณ เล่าว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ธ.ค.64 มีรถส่งน้ำของหมู่บ้าน นำถังบรรจุน้ำดื่มมาส่งให้ชาวบ้านที่สั่งซื้อตามปกติ รวมทั้งบ้านของนายเปเปอร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกันด้วย

ระหว่างที่นายเปเปอร์เปิดฝาถัง ได้สังเกตเห็นเหมือนมีอะไรอยู่บริเวณก้นถังน้ำ จึงเรียกเพื่อนบ้านมาดู พบเป็นปลากัดว่ายอยู่ก้นถังน้ำ จึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งผู้จัดการโรงผลิตน้ำของหมู่บ้าน ให้นำน้ำดื่มถังใหม่มาเปลี่ยน เนื่องจากในถังมีปลาอยู่

สำหรับโรงผลิตน้ำดื่มดังกล่าว เป็นโรงผลิตน้ำดื่มตามโครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หรือน้ำดื่มประชารัฐ ซึ่งหมู่บ้านได้รับงบประมาณมาจากรัฐบาล เพื่อมาตั้งเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่มสะอาด กำลังผลิตวันละ 12,000 ลิตร/วัน ผลิตเพื่อคนในชุมชน โดยใช้แหล่งน้ำจากโรงประปาหมู่บ้าน ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นคนในหมู่บ้านท่าลาด ไม่ได้นำออกไปจำหน่ายหมู่บ้านอื่น

เมื่อสอบถามที่มาของปลาดังกล่าว ทางโรงผลิตน้ำสันนิษฐานว่า คนงานอาจล้างถังไม่สะอาดก่อนบรรจุน้ำใหม่เข้าไป เพราะเป็นถังน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาบรรจุใหม่ ทำให้มีปลาติดอยู่ในถังน้ำ

โดยทีมข่าวอีจัน ได้ไปดูโรงผลิตน้ำดื่มที่ผลิตออกมาขายให้กับชาวบ้าน ปรากฏว่าโรงงานปิดไม่มีใครอยู่

ขณะเดียวกันในช่วงเย็น มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ เข้าตรวจสอบกระบวนการผลิต รวมถึงพูดคุยกับผู้ดูแลการผลิตของโรงกรองน้ำ โดยให้คณะกรรมการดำเนินการยื่นขออนุญาตการผลิตกับ อย.จังหวัด และสั่งดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้สะอาด ตามระเบียบของทางราชการ จึงจะอนุญาตให้เปิดกิจการอีกครั้ง ขณะนี้ขอให้หยุดขั้นตอนการผลิต จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของ อย.ก่อน

ชาวบ้านก็ยังคงต้องซื้อน้ำจากโรงผลิตแห่งนี้มาบริโภคเช่นเดิม แต่อยากให้ผู้ผลิตมีมาตรการรักษาความสะอาดที่ดีกว่านี้ เพื่อสุขภาพของชาวบ้านตามเป้าหมายของโครงการ

คลิปอีจันแนะนำ
สายมูต้องมา! เบอร์ดีพาดวงปัง