“อำนวย นิ่มมะโน” เตือน ตำรวจ คดีแตงโมตกเรือ อย่าหลงทาง ตามโซเชียล

“อำนวย นิ่มมะโน” อดีต ผบช.ภ. 1 เตือน ตำรวจ ที่ทำคดีแตงโมตกเรือ อย่าหลงทาง ตามโซเชียล เตรียมนำเข้า ที่ประชุม กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม นิดา” ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาว โดยมีใจความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สอบสวน กำลังทำงานตามกระแสจากนักสืบโซเชียล ที่ตั้งข้อเรียกร้องความสนใจ ให้เกิดขึ้นในสังคม อาจจะมีทั้งผู้รู้และไม่รู้ บางประเด็นถึงขนาดหมิ่นประมาทผู้เสียชีวิตก็มี เช่น มีผู้ใหญ่รออยู่ที่โรงแรมริมน้ำ รับงานเอ็นฯ, 1 ใน 5 บนเรือรับสารภาพแล้ว (แอบได้ยินในห้องน้ำ), มีการเสพยาบนเรือ, พล.ต.ต. นอ หนู แอบให้ข่าว แอบขายข่าว, ผลการตรวจพิสูจน์ศพ จะทำให้ตำรวจอึ้ง, ชี้นำให้เอาคนบนเรือ ทั้ง 5 คนเข้าเครื่องจับเท็จ เป็นต้น

ประเด็นของเครื่องจับเท็จนั้น ไม่ใช่อยู่ๆก็จะให้ใครเข้าเครื่องจับเท็จได้ทันที มันมีวิธีการ มีกระบวนการ ต้องแสวงหาพยานหลักฐาน มาเปรียบเทียบ มาพิสูจน์ คดีแรกที่มีการใช้เครื่องจับเท็จเข้ามาพิสูจน์ในทางคดี ตนเองได้ทำคดีนั้น กว่าจะนำไปเข้าเครื่องจับเท็จ จะต้องทำการสืบสวนสอบสวน พิสูจน์ทดลองกันหลายขั้นตอน แสวงหาพยานหลักฐานประกอบจนเห็นว่าควรนำเข้าเครื่องจับเท็จ

สมัยที่พลตำรวจเอกวรรณรัตน์ คชรัตน์ เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม คดีการเสียชีวิตของสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ พนักงานสืบสวนสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ใช้ความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านกฎหมาย หลักวิชาการ ประสบการณ์ทำงาน ไม่มีผู้ชี้นำ ไม่มีผู้ชักจูง สร้างประเด็น สร้างปัญหาให้กับการสืบสวนสอบสวน ทั้งๆที่ผู้ต้องหาเป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กับพวก ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจอีกกว่า 10 นาย เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี ตนเองทำสำนวนคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งไปเบิกความต่อศาล และศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งหมด ไม่มีนักสืบโซเชียล ผู้รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง มาชี้นำกำหนดประเด็นทำให้ต้องหลงป่า จนแทบจะหาทางออกไม่เจอ ที่ผ่านมา พนักงานสืบสวนสอบสวนจะมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะการสอบสวนต้องกระทำโดยลับ การให้ข่าวกับสื่อมวลชนในคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเท่าที่จำเป็น สื่อก็นำเสนอต่อสาธารณะเท่าที่ไม่เสียความยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่มีการโต้กันไปโต้กันมา กล่าวหากันไปมา จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ชอบด้วยกฎหมายภายใต้หลักการที่ถูกต้อง

จากที่ได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่ปิดคดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าสอบสวนเสร็จแล้ว จะสรุปผลในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.65 เป็นเพราะกระแสจึงทำให้ท่านตอบเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้อย่าลืมว่า การสอบสวนต้องกระทำด้วยความ “รวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม” เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องทำความเห็นตามท้องสำนวน คือตามพยานหลักฐาน แล้วมีความเห็นตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 หรือ 141 แล้วแต่กรณี ไม่ใช่เมื่อมีกระแสจึงไม่กล้าปิด การสอบสวนไม่ใช่โรงลิเก ที่หากมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ ก็สามารถรื้อคดีใหม่ได้

ตนเองในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีการประชุม กันในวันจันทร์ที่ 14 มี.ค. 65 จะนำปัญหานี้เสนอในที่ประชุม เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงจะต้องร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนด้วย

คลิปอีจันแนะนำ
อีจันเปิดใจเเม่เเตงโม รับได้ ถ้าสุดท้ายคดีจบที่อุบัติเหตุ