เครือข่าย ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยัน บ้านพักตุลาการ ต้องรื้อทั้งหมด

เครือข่าย ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ย้ำจุดยืน ต้องรื้อถอน บ้านพักตุลาการ ทั้งหมด จับตาอาคารชุดอีก 9 หลังครบกำหนดส่งคืนอีก 4 เดือน

เครือข่าย ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ย้ำจุดยืนต้องรื้อถอนทั้งหมด

หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ส่งมอบ บ้านพักตุลาการ เชียงใหม่ 45 หลัง คืน ธนารักษ์ ในวันที่ 27 เมษายน 2565

จากกรณีข้อพิพาท สร้างบ้านพักตุลาการ ในพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จนเกิดการเคลื่อนไหว ของกลุ่มคนในนาม เครือข่าย ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

ทีมอีจัน ได้คุยกับ พี่ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

“นับตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหว 29 เมษายน 2561 มาจนถึงวันนี้ ต้องขอบคุณศาลอุทธรณ์ภาค 5 และ กรมธนารักษ์ ที่ได้รับพื้นที่คืนมา แม้จะเป็นส่วนบนก็ตาม”

พี่ธีระศักดิ์ ยังฝากชวนทุกคนมาช่วยกันฟื้นฟูป่าดอยสุเทพ และร่วมพิธีฮ้องขวัญดอยสุเทพ ต้นเดือนมิถุนายนนี้

ได้คุยกับ พี่ธีระศักดิ์ ถึงบ้านพัก 45 หลัง ที่ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ส่งมอบคืน พร้อมที่ดิน

พี่ธีระศักดิ์ : ทางเครือข่ายแสดงจุดยืนมาโดยตลอดคือ…

ขอให้รื้อบ้านพักเท่านั้น

ที่ผ่านมาอาจติดขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ตอนนี้อาคารมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ประกอบกับมีมติคณะกรรมการจังหวัดที่ให้รื้อตามขั้นตอนกฎหมาย หากสุดท้ายแล้วไม่มีการรื้อถอน ทางเครือข่ายจะฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมจังหวัดที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี

ทางเครือข่ายยืนยันจะต้องรื้อถอนบ้านพักทั้งหมดและอาคารชุดอีก 9 หลัง

แต่อาคาร ชุด 9 หลัง ยังไม่ได้ส่งมอบคืน ?

พี่ธีระศักดิ์ : อาคารชุดทั้ง 9 หลังจะให้เวลาอีก 4 เดือน ตามที่ที่ประชุม ครม. ขอไว้ให้ผู้พักอาศัยอยู่ต่อไปก่อน จนกว่าการก่อสร้างอาคารที่พัก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แห่งใหม่ที่ จ.เชียงราย จะแล้วเสร็จและส่งมอบในวันที่ 7 กันยายน 2565

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างล่าช้า และคาดว่าจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี แต่ทางเครือข่ายจะขอยึดเอาวันที่ 7 กันยายน เป็นวันดีเดย์ โดยจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง เพื่อขอให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารชุดทั้ง 9 หลัง ทยอยย้ายออกเพื่อขอคืนพื้นที่และเริ่มปลูกป่าทดแทน

“ดอยสุเทพ ถือเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ของคนเชียงใหม่ เราขอความเห็นใจจากทางราชการเพื่อขอป่าคืน ขอเข้าไปปลูกป่า ลบรอยแหว่งของพื้นที่บริเวณนี้ ให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง ลบคำว่าป่าแหว่งออกไปจากแผนที่”

สำหรับ จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2558 หลังภาพถ่ายทางอากาศจากนักบินร่มบิน พบโครงการก่อสร้างบ้านพัก ที่มีทั้งบ้านเดี่ยว และอาคารชุดรวมหลายสิบหลัง บนพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้าง อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ

ซึ่งภาคประชาชนได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่า เป็นโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 45 หลัง และ อาคารชุดอีก 13 หลัง งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์ของกองทัพภาคที่ 3 และภายหลังกรมธนารักษณ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว จำนวน 147 ไร่ ในการก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และ อาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ

กระทั่งวันที่ 29 เมษายน 2561 ภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ” เพื่อเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนขอคืนผืนป่า โดยชี้ว่าพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักหลังเดี่ยวทั้ง 45 หลัง และ อาคารชุด 9 ใน 13 หลัง แม้จะเป็นที่ราชพัสดุ แต่อยู่ในเขตแนวป่าดั้งเดิม และไม่ได้อยู่ในเขตป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าดอยสุเทพ ที่ถือว่าเป็นปอดของเมืองเชียงใหม่ โดยยื่นคำขาดให้มีการยุติการใช้งานและรื้อถอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อปรับพื้นที่และฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม

นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งเดินขบวน เปิดเวที และรณรงค์ผูกริบบิ้นสีเขียวเป็นสัญลักษณ์

กระทั่งเมื่อวันที่16 สิงหาคม 2561 มติคณะกรรมการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งขึ้นมาจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติสั่งรื้อบ้านป่าแหว่ง 45 หลัง และ คอนโด 9 ใน 13 หลัง แต่ผ่านไปนานเกือบสองปีก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนมาถึงปลายปี 2563 กรมธนารักษ์ยังไม่รับมอบอาคารและพื้นที่คืนจากสำนักงานศาลยุติธรรม โดยระบุว่าไม่มีกฎหมายรองรับครุภัณฑ์ในบ้านพัก

ต่อมากลางปี 2564 กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือให้กรมธนารักษ์รับมอบอาคารพร้อมครุภัณฑ์และบ้านพักได้ แต่กว่าจะมีการส่งมอบกันในวันนี้ (27 เมษายน 2565) ก็ผ่านมานานเกือบหนึ่งปี ซึ่งความล่าช้าในการรับมอบคืน ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ยืนยันว่าไม่ได้ยื้อเวลา แต่จะต้องมีการตีความและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างรอบคอบ

แม้ในวันนี้ ชาวเชียงใหม่จะได้พื้นที่ป่าส่วนคืนมา แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีอีกอาคารชุดทั้ง 9 หลัง ที่ทางกลุ่มคนเชียงใหม่ ยืนยันว่า บ้านพักตุลาการ ต้องรื้อถอนทั้งหมด และผู้ที่ยังอาศัยอยู่จะต้องทยอยย้ายออก เพื่อที่กลุ่มคนในนาม เครือข่าย ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จะได้เริ่มปลูกป่าทดแทนและลบคำว่า “ป่าแหว่ง” ออกไปให้ได้

คลิปแนะนำอีจัน
ทนายตั้ม ไร้กังวล โดน ตร. แจ้งหมิ่น #คดีแตงโม