แจ้งความเท็จ ช่วยเหลือผู้กระทำผิด มีความผิดอย่างไร?

แจ้งความเท็จ , ช่วยเหลือผู้กระทำผิด ให้รอดพ้นหรือรับโทษน้อยลง มีความผิดอย่างไร เปิดประมวลกฎหมาย ไขข้อข้องใจกฎหมาย มาตรา 172,184

รู้ไว้ใช่ว่า ด้วยเรื่องกฎหมาย ตามข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม

การแจ้งความเท็จ(คดีอาญา)

การแจ้งความเท็จนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ได้นิยามความหมายไว้ว่า

“ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”

โดยมีมาตรา 172,173,174 เป็นบทเฉพาะ

มาตรา 172 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ ‘ความผิดอาญา’ แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท”


มาตรา 174 “ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท”

ข้อสังเกตุ

1. ผู้แจ้งความเท็จนั้นอาจเป็น บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็ได้

2. การแจ้งความเท็จอาจทำโดย

– การบอกกับเจ้าพนักงาน

– การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน

– การแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐาน

3. ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง ‘อนาคต’ ไม่เป็นความเท็จ

4. การแจ้งความเท็จนั้นต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคต

5. การแจ้งความเท็จนั้น ผู้แจ้งต้องกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้งเพราะหากแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา

การทำลายพยานหลักฐานในการกระทำความผิด เพื่อช่วยผู้อื่น เข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 184

ว่าด้วยผู้ใดเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ต้องระวางมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตราแห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ถือเป็นเกร็ดเตือนใจให้ระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนให้มีความเข้าใจนัยต่างๆมากขึ้น

อ้างอิงข้อมูล สำนักงานกิจการยุติธรรม

คลิปอีจันแนะนำ
ทนาย เฟิร์ม สิ่งที่สังคมคาดหวังจะเกิดขึ้นใน 15 วัน