เปิดประวัติ สมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

เปิดประวัติ อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระวันรัต สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา

เปิดประวัติ อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระวันรัต นามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โยมบิดา มารดา ชื่อ นายจันทร์ และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด

ได้เข้า พิธีบรรพชาขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปี ฉลู เมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด มี พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดคิรีวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท วันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์(อาจารย์ผู้สวดกรรมวาจา) หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหา

ด้านการศึกษาสงฆ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษา ชั้นตรี-โท และเอก อีกทั้งจัดให้มีการสอบไล่วัดผลประจำปีตามหลักสูตรนักธรรมกับธรรมศึกษา ที่มีการเปิดสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ เคยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร, เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์, กรรมการสนามหลวง แผนกบาลี แม่กองธรรมสนามหลวง กรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม ผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม

รวมทั้งในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ 9 เม.ย.2555 สมเด็จพระวันรัต ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอีกวาระหนึ่ง

ส่วนภาระหน้าที่พิเศษ ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือ การที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย

ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์

ประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต), เป็นพระอุปัชฌาย์, ผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และอื่นๆ อีกมากมาย

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี

พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกวี

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานสถาปนา สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมมุนี

พ.ศ.2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต

ทั้งนี้ สมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม มรณภาพอย่างสงบสิริอายุ 85 ปี พรรษา 65 ละสังขารด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หลังเข้ารับการรักษาอาพาธที่รพ.จุฬาลงกรณ์

คำสอน สมเด็จพระวันรัต “ มาเฟียแห่งความชั่ว ๓ ราย ”

คลิปอีจันแนะนำ
จับโป๊ะสกิลใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์!