เปิดเงื่อนไขผู้ต้องขัง ได้พระทานอภัยโทษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

กรมราชทัณฑ์ เปิดเงื่อนไขผู้ต้องขัง ที่เข้าข่ายได้รับ พระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564

7 กรกฎาคม 2564 กรมราชทัณฑ์ เผยว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอภัยโทษ แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

โดยในครั้งนี้มีผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 คือ ผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี รวมถึงผู้พิการ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และชราภาพ เป็นต้น

และกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ได้แก่ ผู้ต้องราชทัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มแรก โดยจะได้การลดโทษในอัตราส่วนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชั้นและฐานความผิด

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้เพิ่มอาการของโรคที่เป็นเงื่อนไขสำหรับผู้เจ็บป่วยให้ครอบคลุมกับสภาวการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยได้เพิ่มเติมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งผู้เจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคสมองพิการ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต และโรคตับวายเรื้อรัง เป็นต้น ตลอดจนให้ผู้เจ็บป่วยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ ที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ด้วย

ในส่วนของผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ประกอบไปด้วย

1.ผู้กระทำความผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

2.นักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

3.ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดรายใหญ่ ที่ได้รับโทษจำคุกภายหลังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564 (เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563)

4.นักโทษประหารชีวิต ที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกานี้ ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยระบุให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ