ไทยทำได้! ครม.เคาะ แบนพลาสติก ถุงหิ้ว – โฟม – แก้ว – หลอด ลดปริมาณ ขยะพลาสติก

ครม.เคาะ! แบนพลาสติก ถุงหิ้ว – โฟม – แก้ว – หลอด แบบเด็ดขาด ในปี 2565 ลดปริมาณ ขยะพลาสติก

อนาคตไทยปลอด “ ขยะพลาสติก ”

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแผนปฏิบัติการด้านการจัดการ ขยะพลาสติก ดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการ ขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ขยะพลาสติก ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ Roadmap การจัดการ ขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573

2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ

เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ขยะพลาสติก ที่สำคัญและต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วง 3 ปีแรก (ปี พ.ศ. 2563 – 2565) ให้ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)

สำหรับแผนการจัดการ เพื่อลดปริมาณ ขยะพลาสติก และการจัดการ ขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ดังนี้

1. การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่

– ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน

– กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม

– แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน

– หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น

2. การนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่

– ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP)

– บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE)

– ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)

– ฝาขวด

– แก้วพลาสติก

– ถาด/กล่องอาหาร

– ช้อน/ส้อม/มีด

โดยมีมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต โดยการออกแบบ/ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ รับผิดชอบของเสียที่เกิดจากสินค้าของตนเอง ผลักดันให้มีการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลพลาสติกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถเชื่อมโยงทั้งประเทศ

2. มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภคที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

3. มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมให้ประชาชนลด และคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก และจัดหาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

คาดว่าตามแผนปฏิบัติงานดังกล่าว ลดปริมาณ ขยะพลาสติก ที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก ได้ประมาณ 2,500 ไร่ โดยการคัดแยกและนำ ขยะพลาสติก กลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน