ไอแอลโอ เผย สถิติ ปี 2564 การจ้างงาน เยาวชนไทย ต่ำสุด ในรอบหลายปี

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ไอแอลโอ ) เทียบ สถิติ ปี 2564 การจ้างงาน เยาวชนไทย ต่ำสุด ในรอบหลายปี ผลกระทบจากโควิด-19

โควิด กระทบทั่วหย่อมหญ้า ไม่ใช่แค่สุขภาพของคน แต่รวมถึงการดำรงชีวิตด้วย

โดยเฉพาะเยาวชน ที่กำลังโตในช่วงโควิด

ล่าสุดจากการประเมินตลาดแรงงานไทย ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) พบการจ้างงาน ในกลุ่มแรงงานเยาวชนไทย ลดลงร้อยละ 7 ในไตรมาสแรกของปี 2564 (เทียบกับไตรมาสที่สี่ของปี 2562) อัตราการว่างงานของเยาวชนทั้งชายและหญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จุด ซึ่งสูงที่ร้อยละ 6 และร้อยละ 8 ตามลำดับ เป็นอัตราการว่างงาน ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

จากรายงานไอแอลโอ สถานประกอบการขนาดเล็ก ที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 50 คน ได้รับผลกระทบมากที่สุด แบ่งเป็นอัตราการจ้างงานลดลงร้อยละ 18 สำหรับแรงงานเยาวชนชาย และร้อยละ 24 สำหรับแรงงานเยาวชนหญิง

นายแกรม บัคเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า

“สถานการณ์โควิด มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรง ในกลุ่มเยาวชนและสถานประกอบการขนาดเล็ก มาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงในภาคธุรกิจหลัก และรายกลุ่มของกำลังแรงงาน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัว เช่นเดียวกับความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้รับวัคซีน ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย”

นายแกรม ยังกล่าวอีกว่า

“ระหว่างไตรมาสที่สี่ของปี 2562 และไตรมาสที่หนึ่งของปี 2564 จำนวนชั่วโมงการทำงานทั้งหมด ลดลงร้อยละ 7 หรือเทียบเท่าการลดลงของการจ้างงานเต็มเวลา จำนวน 2 ล้านชั่วโมง การฟื้นตัวที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในด้านชั่วโมงการทำงานและการจ้างงานในครึ่งหลังของปี 2563 กลับมีทิศทางตรงกันข้ามในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2464 อันเนื่องมาจากการระบาดระลอกใหม่ในช่วงต้นปี 2564 ”

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สามของปี 2564 และกำลังส่งผลกระทบต่อในไตรมาสที่ 4 ดังนั้นอาจคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีขนาดใกล้เคียงกับที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาสที่สองของปี 2563”

ไอแอลโอ ยังเผยอีกว่า การสูญเสียชั่วโมงทำงานในปี 2564 อันเนื่องจากการระบาดโควิด จะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ขณะที่การฟื้นตัวในอัตราเร่งที่ไม่เท่ากัน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา กำลังคุกคามเศรษฐกิจของโลกโดยรวม

ปัจจุบัน ไอแอลโอ คาดการณ์ว่าชั่วโมงการทำงานทั่วโลกในปี 2564 จะต่ำกว่าชั่วโมงการทำงานในช่วงก่อนการระบาดโควิด (ไตรมาสที่สี่ของปี 2562) คิดเป็นร้อยละ 4.3 ซึ่งเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 125 ล้านตำแหน่ง ในเดือนมิถุนายน ไอแอลโอ ประมาณการที่ร้อยละ 3.5 หรือเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 100 ตำแหน่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)

คลิปแนะนำอีจัน
“เงินกองทุนน้ำมัน หลายแสนล้าน…หายไปไหน” #สิบล้อขอน้ำมัน 25 บาท