รู้หรือไม่ ? ปากกาเมจิกเขียนไว้นอกถุงโจ๊ก ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ

ฝากถึงพ่อค้าแม่ค้า ใช้ปากกาเมจิกเขียนบนถุงร้อน ไม่ควรทำ เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ เพราะถุงไม่ได้ออกแบบมาให้เขียนปากกาเมจิกลงไป

กรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพถุงโจ๊ก ที่ซื้อมาจากร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ร้านได้ใช้ปากกาเมจิกสีชมพูเขียนไว้นอกถุง แต่พอเปิดถุงเตรียมเทโจ๊กใส่ถ้วย กลับพบว่า หมึกสีชมพูที่เขียนด้านนอกถุงซึมเข้าไปผสมกับเนื้อโจ๊กจนกลายเป็นสีชมพู

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ล่าสุดวันนี้ (15 ต.ค.62) อีจันติดต่อไปยัง รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น รศ.ดร.เจษฎา เผยว่า มีความเป็นไปได้ที่หมึกปากกาจะซึมเข้าเนื้ออาหารดังกล่าว เพราะพลาสติกนั้น มีสารที่เป็นโมเลกุลของสสารจับตัวกันอยู่ ซึ่งในตัวพลาสติกเองก็มีช่องว่างเล็กๆอยู่ เมื่อถูกความร้อนจะเกิดการขยายตัว ก็จะยิ่งทำให้ช่องว่างเหล่านี้ มีพื้นที่ให้ความชื้นหรืออากาศเข้าแทรกซึมได้

ภาพจากอีจัน
ในความเป็นจริงนั้น เมื่อถุงร้อนโดนความร้อนก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และยิ่งมีสารเคมีไปทาไว้ โอกาสที่สารเชื่อมที่เป็นตัวทำละลาย ก็จะพาส่วนของสีซึมเข้าไปในเนื้ออาหารได้ ตามหลักแล้วตัวปากกาเมจิก จะมีเนื้อสีที่เป็นสารละลายที่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย ถ้าได้รับการสะสมปริมาณมาก อาจเกิดการระคายเคือง ส่งผลต่อระบบประสาท และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน

ดังนั้น จึงอยากจะฝากพ่อค้าแม่ค้าทุกคน ว่า ถุงพลาสติกไม่ได้ออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป ควรหาวิธีอื่นที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย เพราะยิ่งอาหารร้อนมาก ตัวพลาสติกขยาย ช่องว่างของโมเลกุลก็กว้างขึ้น เกิดการซึมเข้าไปได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้จะใช้ถุงที่มีคุณภาพดีก็ตาม