สรุปความเสียหายในไทย จากเหตุแผ่นดินไหว สปป.ลาว

ปภ. เผย ความเสียหายในไทย จากเหตุแผ่นดินไหว สปป.ลาว ชี้ แพร่ น่าน เลย บ้านเรือนเสียหาย 15 หลัง

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานความเสียหายในไทย หลังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวใน สปป.ลาว ในวันที่ 21 พ.ย. 62

โดยเกิดแผ่นดินไหวบนบก จำนวน 32 ครั้ง ขนาดสูงสุด 6.4 ความลึก 4 กม. จุดศูนย์กลาง บริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีรายงานความรู้สึกสั่นไหวต่อประเทศไทย 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย , ลำปาง, นาน , แพร่ , อุตรดิตถ์ , เลย ,อุดรธานี , ขอนแก่น , นครราชสีมา , พิษณุโลก , กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล

นอกจากนี้ มีรายงานความเสียหาย 3 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน เลย บ้านเรือนได้รับผลกระทบรวม 18 หลัง สถานที่ราชการ 2 แห่ง วัด 6 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง สถานบริการสาธารณสุข3 แห่ง ดังนี้


1) จ.แพร่ บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ในพื้นที่ อ.สูงเม่น


2) จ.น่าน บ้านเรือนเสียหายรวม 18 หลังได้แก่ อ.บ่อเกลือ 9 หลัง อ.เวียงสา 4 หลัง อ.เฉลิมพระเกียรติ
5 หลัง สถานที่ราชการ 2 แห่งได้แก่ รร.ตชด. อ.บ่อเกลือ และ รร.บ้านมณีพฤกษ์ อ.ทุ่งช้าง วัด 6 แห่ง (อ.ท่าวังผา 1 แห่ง อ.บ้านหลวง 1 แห่ง อ.ภูเพียง 1 แห่ง อ.เมืองฯ 2 แห่ง อ..เชียงกลาง 1 แห่ง) รพ. 2 แห่ง (อ.นาน้อย อ.ปัว)  สถานบริการสาธารณสุข 3 แห่ง (อ.เฉลิมพระเกียรติ 2 แห่ง อ.บ่อเกลือ 1 แห่ง)


3) จ.เลยโรงพยาบาลได้รับความเสียหายเล็กน้อย 1 แห่ง (โรงพยาบาลเมืองเลย)

ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ภาพจากอีจัน


ทั้งนี้ การดำเนินการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้ออกโทรสารด่วนที่สุดแจ้งไปยังจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดตามแนวทาง ดังนี้

ภาพจากอีจัน


1) จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง


2) สำรวจความเสียหายในพื้นที่และให้การช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยทันที


3) ชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดความตื่นตระหนก รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ และแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย


4) รายงานผลการดำเนินงานตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้ กอปภ.ก. ทราบเป็นระยะ
ทางโทรสาร(ศูนย์นิรภัย) หมายเลข 0 2241 7450 -6 อย่างต่อเนื่องเพื่อรายงาน บกปภ.ช. ต่อไป

และได้ออกโทรสาร ด่วนที่สุด เพื่อแจ้งไปยังจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว จึงให้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการเพิ่มเติมตามแนวทาง ดังนี้


1) จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ในกรณีการเกิดแผ่นดินไหวข้างต้นคาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เชื่อมต่อจากรอยเลื่อนปัว ในประเทศไทย จึงส่งผลต่อการรู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกรุงเทพมหานคร
จึงขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และติดตามข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเป็นระยะ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงแนวทางในการปฏิบัติตนทั้งในขณะเกิดเหตุ และหลังเหตุแผ่นดินไหวสงบ


2) ให้เร่งสำรวจบ้านเรือน อาคาร สถานที่ ที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบของแผ่นดินไหวดังกล่าว หากพบบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายเชิงโครงสร้างมาก และอาจเกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยให้ฝ่ายปกครอง อปท. จัดสถานที่สำหรับประชาชนข้าพักพิง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับปรุง ซ่อมแชมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัย และชี้แจงแนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่กำหนดโดยทันที