ฝุ่น PM 2.5 แรงไม่เลิก ทะลุเข้าเลือด ยัดเยียดสารพัดโรค

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง เปิดฤทธิ์อันตราย! ฝุ่น PM 2.5 ทะลุเข้าเลือด ยัดเยียดสารพัดโรคแบบไม่รู้ตัว

ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศ ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM 2.5 รุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ ‘กรุงเทพมหานคร’ และพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง 

มีความพยายามศึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นนี้ ถึงขนาดประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ทุเลาเบาบางลงได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการหาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ล่าสุด ‘อีจัน’ มีโอกาสพูดคุยกับ ‘อาจารย์หมอสุรัตน์’ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง ถึงผลกระทบและปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ที่คนจำนวนไม่น้อยเริ่มคุ้นชิน ว่า 

ตลอดระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนเริ่มรู้สึกว่า เป็นปัญหาเหมือนหมอกควันธรรมดาทั่วไป เพราะคนปกติทั่วไป ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะฤทธิ์จากฝุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบทันที แต่หารู้ไม่ว่า เป็นภัยเงียบในระยะยาว ที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง 

ยิ่งคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึง สูดฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าไปทุกวันๆ โรคเก่าเสี่ยงกำเริบ และทวีความรุนแรงขึ้น

ซึ่งผลกระทบใน ‘ระยะสั้น’ ต่อ 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มเด็ก ซึ่งผลวิจัยจากการสำรวจ เด็กหลายหมื่นคนที่ต้องผจญกับเจ้าฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน พบว่า โครงสร้างและการทำงานของสมองเปลี่ยนไป ส่งผลต่อพัฒนาการ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ความฉลาดลดลง 

2.กลุ่มคนทั่วไป ที่คิดว่าฝุ่น PM 2.5 เข้าปอดเพียงอย่างเดียว จากนั้นจึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็กกว่าเม็ดทรายถึง 50% ดังนั้น เมื่อผ่านเข้าปอดแล้วจะเข้าสู่กระแสเลือดทันที

และด้วยหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงอยู่ทั่วร่างกาย จึงก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดขนาดเล็ก

ปัญหาที่ตามมา คือ บางคนที่แข็งแรงดี แต่หลอดเลือดมีปัญหา ระยะยาวเมื่อเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันนี้มากๆ อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.พ. ถึงมี.ค.ทุกปี ที่ปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้น พบว่า อัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบตันเพิ่มขึ้น

3.กลุ่มผู้ป่วย เช่น โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน การที่เส้นเลือดขนาดเล็กตีบตัน อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เห็นชัดเจน 

และยังพบว่า ระยะนี้อัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตเพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ 10 ไมครอน อย่างชัดเจน

แต่ก่อนที่ฝุ่น PM 2.5 จะลงปอด ปกติจมูกของเราจะเชื่อมต่อกับสมองได้โดยตรง สังเกตุง่ายๆ เวลาดมกลิ่นหรือดมน้ำหอมปุ๊บแล้วเรามีอาการมึนหัว นั่นก็เป็นเพราะ

รูจมูกด้านบนมีส่วนยื่นของสมองแปะอยู่ ซึ่งส่วนนี้รับฝุ่นที่ทะลุขึ้นไปได้โดยตรง

ดังนั้น เมื่อเราสูดฝุ่นเหล่านี้เข้าไปแล้วจะเข้าสู่สมองได้โดยตรง 

จากนั้น ในระยะสั้นซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า จะทำให้กระบวนการคิด การทำงาน การตัดสินใจต่างๆ ของเราช้าลง ก่อเกิดเป็นความเครียด หรือโรคซึมเศร้าตามมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่สารเคมีในสมองมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าคนปกติอยู่แล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงมาก

“ช่วงฝุ่นเยอะ การทำงานของสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้บางคนคิดอะไรไม่ค่อยออก พูดง่ายๆ คือโง่ลง กระบวนการเรียนรู้ลดลง กระบวนการตัดสินใจแย่ลง รวมถึงภาวะซึมเศร้า และนอนไม่หลับ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ระยะนี้พบผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่การซึมเศร้าเพราะติดตามข่าวการเมือง แต่รู้สึกซึมเศร้าเองอัตโนมัติ ซึ่งเป็นความจริงจากการสูดดมฝุ่นเหล่านี้เข้าไปปริมาณมาก ทำให้สารเคมีในสมองที่เกี่ยวกับความสุขลดลง ทำให้ป่วยเป็นซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น” อาจารย์หมอสุรัตน์ กล่าว

ส่วนใน ‘ระยะยาว’ ยิ่งหนัก

ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ผู้ที่อาศัยตามเมืองใหญ่อยู่กับฝุ่น PM 2.5 นี้มานาน งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบจุดเชื่อมโยงของโรคกับช่วงฝุ่นควันที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เพิ่มขึ้นแน่ๆ คือ 2 โรค ซึ่งอยู่ในกลุ่มรุนแรงและรักษาไม่หาย คือ โรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว 

สำหรับ ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากพลังงานของเซลที่เสื่อมถอย ทำให้ผนังของหลอดเลือดไม่แข็งแรง ไม่หยืดหยุ่น เกิดเส้นเลือดแข็งตัวและตีบง่าย

ถัดมา ‘โรคอัลไซเมอร์’ ซึ่งน่าสนใจ เพราะเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือด แต่จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากการที่สมองไม่สามารถกำจัดขยะออกได้ โดยเฉพาะ ‘อะไมลอยด์’  ซึ่งโปรตีนขยะที่เหนียวหนึบในสมอง จึงเกิดการสะสม

ซึ่งจากการทดลองในหนู โดยในรมฝุ่น PM 2.5 นี้ ในระยะสั้น กลางและยาว พบว่า ฝุ่นยิ่งเข้าไปกระตุ้นการสร้างอะไมลอยด์ให้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ส่วนการทดลองในมนุษย์ พบอะไมลอยด์เพิ่มขึ้นเช่นกัน มิหนำซ้ำฝุ่นยังเข้าไปทำลายการกำจัดอีกด้วย เมื่อเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่ง จะทำให้มีอาการหลงลืมง่าย ความจำไม่ดี จำหน้าลูก หน้าเมียไม่ได้ ในอนาคตจึงเกิดเป็นอัลไซเมอร์

พูดถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนต้องร้องอื้อหือ และตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า เราจะใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นพิษนี้ต่อไปยังไงดี ติดตามได้ เร็วนี้ๆ จะมาบอกค่า

คลิปอีจันแนะนำ
27 ชั่วโมงคลั่ง! โคตรทรหดเจรจาสยบ สารวัตรคลั่ง