จับคาถาด กวนเองกับมือ ครีมเถื่อน คิดสูตรเอง ผสมเสตียรอยด์

ระวัง ! ตำรวจสอบสวนกลาง บุกแหล่งผลิตเครื่องสำอางผสมเสตียรอยด์ เห็นคาตา กวนคาถาด แถมลุงคิดสูตรเอง

กวนคาถาด ! เครื่องสำอางผสมเสตียรอยด์ ใครตกเป็นเหยื่อบ้าง ระวังหน้าพัง

(22 มีนาคม 67) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. บุกแหล่งผลิตเครื่องสำอางผสมเสตียรอยด์

การจับกุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ปัจจุบันมีผู้บริโภคมีความนิยมซื้อเครื่องสำอางผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อหวังผลลัพธ์ให้ผิวขาวกระจ่างใส และรักษาฝ้า แต่ปรากฏว่า เมื่อนำมาใช้แล้วเกิดอาการแพ้ ผิวหน้าอักเสบ และเกิดฝ้าถาวรมากขึ้น กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานและผสมสารต้องห้ามอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการนำสารต้องห้ามผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อาทิ เช่น ปรอท สารโฮโดรควินิน กรดเรโนเทอิก และสเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้แล้วอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ผิวบางลง ผิวหน้าดำ เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะสารไฮโดรควิโนนอาจดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

ต่อมา ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า มีสถานที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงทำการสืบสวนหาข่าวจนทราบถึงสถานที่ลักลอบผลิต

ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 67 ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาครเข้าทำการตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ในการลักลอบผลิต พื้นที่ ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 2 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 สถานที่ผลิตพบ นายเฉลียว (สงวนนามสกุล) อายุ 68 ปี ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน เป็นผู้นำตรวจค้น โดยสถานที่ดังกล่าวใช้พื้นที่ภายในบ้านในการจัดเก็บและผลิตเครื่องสำอางสำหรับทาผิวหน้าและผิวกาย โดยผสมส่วนผสมต่างๆ ด้วยมือมนุษย์ และอุปกรณ์ในการผลิตที่ไม่มีสุขอนามัย พร้อมตรวจยึด

  1. ยา BETASONE-CE CREAM (ยาขึ้นทะเบียนมีส่วนผสมของสเตียรอยด์) จำนวน 76 กระปุก
  2. ผง BETA BETAZONE (เคมีภัณฑ์สเตียรอยด์) น้ำหนัก 400 กรัม
  3. ไฮโดรควิโนน (ผงสีขาวขุ่น) น้ำหนัก 6 กิโลกรัม
  4. ผงสีขาวบรรจุอยู่ในกระปุกสีขาว(สเตียรอยด์) น้ำหนัก 900 กรัม
  5. ผงสีขาว บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก น้ำหนักถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 15 ถุง
  6. ผงสีเหลือง(วิตามิน A) น้ำหนัก 200 กรัม
  7. ผง ALLANIGIN น้ำหนัก 500 กรัม
  8. ผง METHYLPARABEN BP USP น้ำหนัก 450 กรัม
  9. ผง PROPYLPARABEN BP USP น้ำหนัก 450 กรัม
  10. ผลึก SODIUM METABISULFITE BP จำนวน 1 กล่อง
  11. เนื้อครีมสีส้ม บรรจุอยู่ในกระปุก (ผสมแล้ว) จำนวน 5 กระปุก
  12. หัวเชื้อน้ำหอม จำนวน 2 ถัง น้ำหนัก 5.5 กิโลกรัม
  13. WAX สำหรับทำสบู่ จำนวน 3 กระสอบ น้ำหนัก 2.6 กิโลกรัม
  14. น้ำยา GLYCERIN บรรจุแกลลอนละ 25 กิโลกรัม จำนวน 5 แกลลอน
  15. ถังพลาสติก ขนาด 20 ลิตร เตรียมสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ผสมแล้ว จำนวน 12 ใบ
  16. อุปกรณ์ในการผลิต (ตาชั่ง ไม้พายสำหรับกวน กาละมังขนาดต่างๆ ตะแกรงสำหรับร่อนผง) จำนวน 9 รายการ รวม 13 อัน
  17. กระปุกเปล่าบรรจุสาร แกลลอนเปล่าบรรจุสาร (ที่ใช้แล้ว) จำนวน 3 รายการ รวม 18 ใบ

จุดที่ 2 สถานที่เก็บวัตถุดิบ โดยมี นาง มาลี (สงวนนามสกุล) เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้น พบกระปุกเปล่า ฉลากระบุ BETASONE-CE CREAM จำนวน 1,290 กระปุก ซึ่งจากการสอบถาม รับว่า กระปุกดังกล่าว นายเฉลียว นำมาให้ตนเก็บไว้ ซึ่งแจ้งว่า เป็นกระปุกที่นำครีมออกมาใช้แล้ว จึงตรวจยึดเป็นของกลาง

รวมตรวจค้นทั้งหมด 2 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 18 รายการ รวมมูลค่ากว่า 2,000,000 บาท พร้อมจับกุมตัว นายเฉลียว พร้อมของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

จากการสืบสวนเพิ่มเติม นายเฉลียว รับว่า ตนเองจบระดับปริญญาตรี จากวิทยาลัยเกษตรกรรมแห่งหนึ่ง หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้ทำงานที่บริษัทผลิตเครื่องสำอาง ต่อมาบริษัทปิดตัวลง จากนั้นจะมีเซลล์บริษัทเดิมที่ตนรู้จัก ได้ติดต่อมาเพื่อขอให้ผลิตเครื่องสำอางให้ แรกๆ ผลิตส่งแล้ว ผู้ใช้ไม่ค่อยได้ผล ตนเองจึงคิดสูตร โดยหาจากสื่อออนไลน์ YOUTUBE, TikTok จนได้สูตรดังกล่าว ทำมาแล้วประมาณเกือบ 2 ปี โดยรับว่ามีผู้ติดต่อให้ผลิตเพื่อส่งไปขายต่อ ไม่ทราบว่าไปติดสติกเกอร์เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใด โดยมีรายได้เดือนละประมาณ 100,000 – 300,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบการรับโอนเงินสั่งซื้อพบมีการโอนเงินค่าสินค้าประมาณ 4 ล้านบาท

ซึ่งจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิต เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นยาแผนปัจจุบัน เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด “ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

หากผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่น พบว่าเป็นเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติม
1.“ผลิตเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  1. “ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. หากตรวจพบสารห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ฐาน “ผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ผู้ผลิตระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ขายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เภสัชกรหญิงอรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถหาแหล่งผลิตและจำหน่ายรวมถึงตรวจยึดเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้มีการเฝ้าระวังการขายเครื่องสำอางที่ตรวจพบสารห้ามใช้ ได้แก่ ไฮโดรควิโนน ปรอท และกรดเรทิโนอิก ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนการขายผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิตและผู้ผลิตรายนี้ได้


คลิปอีจันแนะนำ

ครีมหน้าใส by ลุงกวนเอง