แพทย์ เปิดผลวิจัย ผักสดใน 5 เขต กทม. ปนเปื้อนพยาธิ 

ระวังอย่าระแวง! แพทย์ มศว เปิดผลการศึกษาล่าสุด เผยผักสด 5 เขตในกรุงเทพฯ มีพยาธิปนเปื้อนสูงถึง 77% แนะล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน

ระวังนะคะ! ผลวิจัยเผย “ผักสด” อาจมีพยาธิปนเปื้อน!   

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.68 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก Parasite stories เล่าเรื่องปรสิต ได้ออกมารายงานว่า ผลการศึกษาล่าสุดพบ “ผักสด” มีอัตราการปนเปื้อนของพยาธิโดยรวมอยู่ที่ 77% เขตใดของกทม. พบพยาธิในผักมากที่สุด, ผักชนิดใดที่พบพยาธิมากที่สุด, พยาธิใดบ้างที่พบ และแล้วในที่สุดก็มีงานการศึกษาพยาธิในผักที่กทม. ออกมาสักที เป็นผลงานของคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

ตีพิมพ์ เรื่อง Widespread Soil-Transmitted Parasitic Contamination in Raw Vegetables at Fresh Markets in the Inner Zone of Bangkok: Findings from a Cross-Sectional Study ในวารสาร Am J Trop Med Hyg 

โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวางเพื่อประเมินอัตราการปนเปื้อนของพยาธิในผักสดจากเขตชั้นในของกรุงเทพฯ โดยมุ่งเน้นใน 5 เขต ได้แก่ 

– ห้วยขวาง 

– คลองเตย 

– ปทุมวัน 

 -จตุจักร 

– พระนคร 

โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผักจำนวน 200 ตัวอย่าง จากผัก 8 ชนิดในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการตกตะกอนร่วมกับการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ผู้ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้รับการปกปิดข้อมูลและปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระเพื่อลดอคติ 

 ผลการศึกษาพบว่า 

 ผักสดมีอัตราการปนเปื้อนของพยาธิโดยรวมอยู่ที่ 77% (154 จาก 200 ตัวอย่าง) 

 เขตห้วยขวางและจตุจักรมีอัตราการปนเปื้อนสูงสุดที่ 90% (P < 0.05) 

 พยาธิที่ตรวจพบ ได้แก่ 

-ตัวอ่อนของ Strongyloides stercoralis (57%) 

-ไข่พยาธิปากขอ (20%) 

-ไข่พยาธิไส้เดือน Ascaris lumbricoides (16%) 

-ไข่พยาธิแส้ม้า Trichuris trichiura (12%) 

-ไข่พยาธิไส้เดือน Toxocara spp. (10%) 

ผักกาดขาวจีนมีการปนเปื้อนของไข่พยาธิปากขอ (P < 0.0001) และไข่พยาธิแส้ม้า T. trichiura (P < 0.001) มากกว่าผักชนิดอื่น 

-ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าผักสดอาจเป็นแหล่งสำคัญของการติดเชื้อพยาธิในคน 

-ผู้บริโภคควรล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน 

-ขณะที่ผู้ขายควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันการสัมผัสกับพยาธิที่สามารถเจาะผ่านผิวหนังได้ อย่างพยาธิปากขอและพยาธิ Strongyloides 

อีกทั้งควรพิจารณาให้การรักษาเชิงป้องกันด้วยยาถ่ายพยาธิ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างน้อยปีละครั้ง 

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Parasite stories เล่าเรื่องปรสิต  

https://www.facebook.com/share/p/19H15VcLPo