นักวิทย์ฯ พบดาวเคราะห์ดวงใหม่คล้ายโลก ห่างเพียง 40 ปีแสง อาจอาศัยอยู่ได้

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ มีลักษณะคล้ายกับโลก แต่ดวงเล็กกว่า อยู่ห่างจากโลกเพียง 40 ปีแสงเท่านั้น คาดอาจอาศัยอยู่ได้

จักรวาลยังคงเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลที่มนุษย์ยังไม่สามารถสำรวจ หรือทำความรู้จักได้แบบทุกซอกทุกมุม แม้เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ของเราจะก้าวหน้าสักแค่ไหน  

ล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีความเป็นไปได้ว่าเหมาะแก่การดำรงชีวิต และอยู่ใกล้โลกเพียง 40 ปีแสงเท่านั้น แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนานกว่า 2 แสนปีเลยทีเดียว 

สำหรับดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า Gliese 12b (กลีส 12 บี) ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ 2 ทีมที่ทำการสำรวจวัตถุในอวกาศ ก่อนจะค้นพบดาวที่มีลักษณะคล้ายโลก แต่มีขนาดเล็กกว่าโลกและใหญ่กว่าดาวศุกร์ โดยอยู่ในกลุ่มดาวราศีมีน (Pisces) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 40 ปีแสง แต่ก็ถือว่าอยู่ใกล้กว่าดาวที่เหมาะกับการอยู่อาศัยดวงอื่นๆที่เคยพบ เช่น TOI-700e ที่อยู่ห่าง 100 ปีแสง หรือ TOI-715b ที่อยู่ห่าง 137 ปีแสง  

การค้นพบในครั้งนี้อยู่ในภารกิจสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (TESS) ขององค์การนาซา ก่อนจะพบ Gliese 12b โคจรรอบดาวแคระแดงที่มีขนาดประมาณ 27% ของดวงอาทิตย์เราและมีอุณหภูมิเย็นกว่า ประมาณ 60% ของอุณหภูมิดวงอาทิตย์ ทำให้ Gliese 12b อยู่ในเขตเหมาะดำรงชีวิต (Habitable Zone) หรือตำแหน่งของดาวเคราะห์มีระยะห่างที่เหมาะสมที่สุดจากดาวฤกษ์ 

แต่ดาว Gliese 12b มีข้อเสียอย่างหนึ่ง คือ มันจะใช้เวลามในการโคจรรอบตัวเองนานถึง 12.8 วัน เท่ากับว่า 1 วันบนดาวดวงนี้จะเท่ากับ 12.8 วันบนโลกเลยทีเดียว ส่วนอุณหภูมิที่พื้นผิวของดาวนั้นพบว่าอยู่ที่ประมาณ 42 องศา ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอากาศบนโลกในฤดูร้อน 

ด้าน คุซูฮาระ มาซายูกิ จากศูนย์ชีวดาราศาสตร์โตเกียว และฟุกุอิ อากิฮิโกะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า เราพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยพบ และมีอุณหภูมิเหมาะสม ขณะที่ ลาริสซา ปาเลธอร์ป นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระและมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ซึ่งเป็นกนึ่งในทีมวิจัยการศึกษา กล่าวว่า ตอนนี้มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแค่ไม่กี่ดวงที่เหมาะกับการดำรงชีวิต และนี่ถือเป็นการค้นพบที่ใกล้โลกที่สุด 

อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวเสริมว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอน้ำบนดาวดวงนี้ และเรากำลังคิดว่าปรากฎการณ์เรือนกระจกกำลังเกิดขึ้น ทำให้มันดูจะคล้ายกับดาวศุกร์ซะมากกว่า ส่วนลำดับถัดไป นักวิทยาศาสตร์จะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ วิเคราะห์สเปกโทรสโกปี (Spectroscopy) หรือตรวจสอบแสงดาวที่ส่องผ่านชั้นบรรยากาศของดาวดวงนี้เพื่อดูว่าโมเลกุลธาตุบางชนิดดูดกลืนความยาวคลื่นใดของแสงไว้ เพื่อจะนำไปหาองค์ประกอบชั้นบรรยากาศต่อ 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์ Gliese 12b จะสามารถอยู่อาศัยได้และอยู่ไม่ห่างจากโลกมาก แต่ในยุคสมัยเราก็คงจะยังไม่มีใครเดินทางไป เพราะด้วยยานอวกาศเร็วที่สุดที่มีอยู่ในตอนนี้ ก้ต้องใช้เวลากว่า 2 แสนปีเลยทีเดียว 

ขอบคุณข้อมูลจาก : science.nasa.gov   


คลิปอีจันแนะนำ

อย่าหาทำ ยูทูปเบอร์ No.1 ขับรถหรู ลงชายหาด