แหล่งข่าวระดับสูง ยธ.เผย ไม่เคยปล่อยตัวพักโทษยามวิกาล

“ทักษิณ” จะกลับบ้านกี่โมง? กรณีพักโทษ แหล่งข่าวระดับสูง ยธ.เผย ไม่เคยปล่อยตัวพักโทษยามวิกาล ในขณะที่กระแสข่าวระบุว่า ทักษิณ จะออกจาก รพ.ตำรวจ ประมาณ ตี 5–6 โมงเช้า วันที่ 18 ก.พ.67

เป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจ กรณีที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าหลักเกณฑ์พักโทษของกรมราชทัณฑ์ และจะได้รับการปล่อยตัวพักโทษ ในวันที่ 18 ก.พ.67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ความคืบหน้าเกี่ยวกับการพักโทษ ของ นายทักษิณ ชินวัตร วันนี้ (17 ก.พ.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวระดับสูง จากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาราชทัณฑ์​ไม่เคยปล่อยตัวผู้ต้องหายามวิกาล ซึ่ง กรณีของ “นายทักษิณ” สามารถรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจต่อได้ หากสุขภาพไม่เอื้ออำนวยในการขยับหรือเคลื่อนย้าย

ส่วนเบื้องต้นหลักการปล่อยตัวผู้ต้องขังสูงวัยและมีอาการเจ็บป่วยออกจากสถานที่คุมขัง หากดูในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ รพ.ตำรวจ เกินกว่า 120 วันจนถึงวันที่มีเงื่อนไขคุณสมบัติผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือสูงอายุ ทางราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อาจเป็น ผบ.เรือนจำฯ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่ได้รับมอบหมาย จะต้องเป็นผู้เดินทางไปพบผู้ได้รับการพักโทษ พร้อมกับนำเอาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษให้เจ้าตัวเซ็นลายมือชื่อ

ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องพูดคุยกับแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษาว่านายทักษิณมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเพียงพอต่อการปล่อยตัวออกจากสถานพยาบาลหรือไม่นั้น เนื่องด้วยนายทักษิณ ถือว่าครบวันบริหารโทษและได้เข้าสู่กระบวนการพักโทษแล้ว อีกทั้งระดับชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็อนุมัติรับทราบให้ปล่อยตัวพักโทษ เมื่อถึงวันพักโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถคุมตัวไว้ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ในกรณีที่นายทักษิณมีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วยก็เป็นสาเหตุสำคัญให้กรมคุมประพฤติไม่ต้องติดกำไล EM ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการคุมประพฤติระหว่างพักโทษ อาทิ ข้อกำหนด ข้อห้ามการกระทำ หรือเงื่อนไขการรายงานตัวต่าง ๆ หลังจากนี้ก็ค่อยดำเนินการในภายหลังได้ โดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีเวลา 3 วันในการเดินทางเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษ นับแต่วันที่ได้พักโทษ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการปล่อยตัวพักโทษ ตามกฎหมายแล้ว เวลาเที่ยงคืนที่กำลังเข้าสู่วันพักโทษ หรือ เวลา 00.00 น. วันที่ 18 ก.พ. ก็ถือว่าเจ้าตัวได้รับการพักโทษแล้ว แต่ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ไม่เคยมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังยามวิกาล และการปล่อยตัวจะต้องมีขั้นตอนของเอกสารต่าง ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง และส่วนใหญ่จะทำในเวลาทำการปกติ เช่น เวลา 06.00 น. หรือเวลา 08.00 น. หรือบางเรือนจำอาจปล่อยตัวในช่วงเวลา 13.00 น. ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละเรือนจำ