“เทศน์มหาชาติ” ได้ฟังแล้วจิตใจอ่อนโยน ละความเห็นแก่ตัว

ประวัติความเป็นมา “เทศน์มหาชาติ” เป็นการสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ และสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็น “เวสสันดร” ในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้

พระสุวิมลธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า การฟังเทศน์มหาชาติถือเป็นการสร้างบุญมหาศาลและเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ซึ่งที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร มีการจัดงานเทศน์มหาชาติขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ในปี 2566 ทางวัดจะจัดงานเทศน์มหาชาติขึ้น ช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ระหว่างวันที่ 19 – 21 ก.ค.66

ประวัติความเป็นมาของ “การเทศน์มหาชาติ”

“การเทศน์มหาชาติ” เป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเทศน์มหาชาติมีการจัดเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือน 11 เดือน 12 หรือเดือน 1 (เดือนอ้าย) ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม บางแห่ง นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขึ้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง

แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล บางแห่งนิยมทำในเดือน 10

สำหรับ “มหาชาติ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการเทศน์มหาชาตินั้น ประกอบด้วยพระคาถาภาษาบาลี จำนวน 1,000 พระคาถา ลักษณะการเทศน์เรียกว่า เทศน์คาถาพัน หรือเทศน์มหาชาติ มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ได้มีการแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง และการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ก็จะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์จบลงก็จะมีปี่พากย์ประโคมเพลงประจำภัณฑ์รับกัณฑ์เทศน์ด้วย การเทศน์มหาชาตินั้น เป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่า เวสสันดรในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

โดยที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญทาน ด้วยการพระราชทานวัตถุสิ่งของแก่ชาวเมือง พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์ชาวเมืองกาลิงคะ พระราชทานพระชาลีและพระกัณหา ซึ่งเป็นพระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชก พระราชทานพระนางมัทรีซึ่งเป็นพระมเหสีแก่ท้าวสักกะ พระเวสสันดรทรงรักษาศีล รักษาคำสัตย์ คือ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็พระราชทานสิ่งนั้นดังที่ตรัสไว้ พระเวสสันดรได้เจริญภาวนาด้วยการเสด็จออกผนวช เจริญภาวนาอยู่ ณ เขาวงกต ทรงสละความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์แล้วดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวช จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วมีอุปนิสัยจิตใจอ่อนโยน มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามพระจริยาวัตรของพระเวสสันดร นั่นคือ สามารถทำให้ความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นถือมั่นว่า “นั่นเรา นั่นของเรา” ค่อย ๆ เบาบางลง จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด

การเทศน์มหาชาติมีอิทธิพลต่อสังคมไทย ในด้านความเชื่อ คือ เชื่อว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียว ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

1. จะได้เกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

2. จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร

3. จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต

4. จะเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี และความสุข

5. จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ศีลธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณกรรม จิตรกรรม การศึกษา ตลอดถึงการเมืองการปกครองของไทยอีกด้วย

ในชีวิตหนึ่งของพุทธศาสนิกชนควรหาโอกาสฟังเทศน์มหาชาติสักครั้ง

อ้างอิงข้อมูลจาก http://arts.pnru.ac.th/th/km/buddhism/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-1