
จารึกขึ้นอีกครั้ง! สวนนงนุชกับภารกิจที่ใช้เวลานานเกือบ 70 ปี
วันนี้ ( 17 ก.ค. 68) นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา นำทีมผู้เชี่ยวชาญปอก “มะพร้าวทะเล” (Coco de Mer) ผลไม้หายากระดับโลกจำนวน 9 ลูก ปรากฏว่า 1 ในนั้น ให้เมล็ดแฝด รวมทั้งหมดเป็น 10 เมล็ด ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง โดยแต่ละเมล็ดมีมูลค่ากว่า 100,000 บาท ทำให้มูลค่ารวมของการเก็บเมล็ดในครั้งนี้ทะลุกว่า 1 ล้านบาท



สวนนงนุชพัทยาในฐานะสวนพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ ได้รวบรวมพันธุ์ไม้จากทั่วโลกกว่า 18,000 ชนิด โดย “มะพร้าวทะเล” เป็นหนึ่งในพืชหายากที่ได้รับการดูแลและอนุรักษ์อย่างพิถีพิถัน ปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์มะพร้าวทะเล รวมทั้งต้นกล้าได้แล้วกว่า 229 ต้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวยิ่งใหญ่ของวงการพฤกษศาสตร์ไทยที่ก้าวสู่เวทีโลกอย่างภาคภูมิ

“มะพร้าวทะเล” หรือ “มะพร้าวแฝด” คือปาล์มพันธุ์พิเศษที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบได้เฉพาะบนหมู่เกาะเซเชลส์ ในมหาสมุทรอินเดีย ได้รับการบันทึกใน กินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด ว่าเป็นพืชที่มีเมล็ดใหญ่ที่สุดในโลก
นายกัมพล กล่าวว่าโดยในธรรมชาติ มะพร้าวทะเลต้องใช้เวลานานถึง 60 ปี จึงจะเริ่มออกผล และต้องรออีก 7 ปีให้ผลสุกเต็มที่ ก่อนเพาะต่ออีก 2 ปี จึงจะเห็นต้นอ่อน แต่ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมงานสวนนงนุชพัทยา ทำให้สามารถเร่งวงจรชีวิตให้มะพร้าวทะเลออกผลได้ภายไม่เกิน 30 ปี และในบางผลอาจให้เมล็ดมากกว่า 1 เมล็ด เช่นในครั้งนี้ที่พบเมล็ดแฝด ถือเป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการดูแลและฟื้นฟูพันธุ์พืชหายากอย่างแท้จริง
การทำภารกิจกว่า 30 ปี ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวสวนนงนุชพัทยา “อีจัน” ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ



