
หลังเกิดดราม่าในโลกออนไลน์ใหญ่โต เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง อ้างว่า เป็นผู้กู้ยืมเงินเรียน ของกยศ. โพสต์รีวิว การบิดหนี้ กยศ. แถมยังชักชวนผู้กู้ยืมคนอื่น ให้ไม่ชำระหนี้คืน กยศ. จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง

ล่าสุด วันนี้ (11 ธ.ค. 67) ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินและเงินที่ได้รับชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่ กลับมาเป็นทุนหมุนเวียน นำไปสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้กู้ยืมรุ่นน้อง

กยศ. มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี มีระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี และมีเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น ดังนั้น การชำระหนี้จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ผู้กู้ยืมทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวย้ำว่า หากผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินคืนตามกำหนด จะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และเกิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้ การชักชวนหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการชำระหนี้หรือโอนทรัพย์สิน เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบ และผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง ที่ต้องการความช่วยเหลือจาก กยศ. ได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนฯ เตือนว่า การเบี้ยวหนี้โดยโอนทรัพย์สินไปให้ผู้อื่นโดยมีเจตนาไม่ให้ กยศ. ได้รับชำระหนี้นั้น นอกจาก กยศ. จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอเพิกถอนการโอนทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 แล้ว ผู้กู้ยืมเงินยังอาจมีความรับผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ซึ่งกำหนดว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นอกจากนี้ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ย่อมเข้าข่ายผู้สนับสนุนซึ่งจะมีความผิดและได้รับโทษทางอาญาเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีผู้กู้ยืมเงินได้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่ง กยศ. ได้มีการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ไปแล้วกว่า 40 ราย
อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ยืมคนใดประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ก็สามารถติดต่อกับ กยศ. เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ สุดท้ายนี้ กยศ. ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อตกลงในการกู้ยืมเงินและการชำระหนี้ และขอให้ผู้กู้ยืมทุกคนที่เคยได้รับโอกาสจาก กยศ. มีความรับผิดชอบในการชำระเงินคืน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
เป็นหนี้ก็ควรชำระนะครับ อย่าบิดกันเลย ให้โอกาสคนอื่นๆด้วยนะครับ