รองโฆษก รบ. แจง ลิเทียม เจอแค่ไหนก็ถือว่าเป็นข่าวดี

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงเรื่องการค้นพบแร่ลิเทียม ระบุเจอมากน้อยแค่ไหนก็ถือว่าเป็นข่าวดี หลัง กพร. บอกไม่ได้มีมากถึงลำดับ 3 ของโลก

หลังจากเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม

ทั้งยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค  

ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับมานั้น ระบุว่า ประเทศไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา  

ก่อนที่ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 ทาง กพร. ได้ออกมาชี้แจงว่า แร่ลิเทียมที่ถูกพบในประเทศไทย ไม่ได้มีมากถึงขั้นเป็นลำดับที่ 3 ของโลก พร้อมระบุว่าอาจเกิดจากความคลาดเคลื่อน หรือความเข้าใจผิดในการสื่อสาร  

ล่าสุด นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง ว่า ปริมาณของแร่ลิเทียมนั้น ไม่ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน การค้นพบครั้งนี้ถือว่าเป็นข่าวดี “ข้อมูลของ กพร. ที่ระบุว่า ไทยสำรวจทรัพยากรแร่ หรือ Mineral Resource กว่า 14.8 ล้านตัน ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยทุกคน เพราะไม่ว่าในปริมาณแร่ดังกล่าวจะมีแร่ลิเธียมอยู่เท่าไหร่ การมีทรัพยากรแร่ที่สำคัญในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแร่ลิเธียม แร่โซเดียม หรือแร่โปรแตส ล้วนมีส่วนสำคัญให้การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เพราะเป็นการช่วยลดการนำเข้าและเพิ่มการพึ่งพิงตนเองให้กับคนไทย กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงพร้อมให้การสนับสนุนและรัดกุมกระบวนการนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ และรัฐบาลเองก็ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตามนโยบาย EV 3.5 ที่จะผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อเติมเต็มความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย” นางรัดเกล้า 

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามในการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ ที่มีการเปรียบเทียบกับปริมาณสำรองของต่างประเทศนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแสดงถึงข่าวดีของประเทศไทย กับการมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถ ทางการแข่งขันของประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีปริมาณแร่ลิเทียม เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก  

นอกจากนี้ กพร. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า คำว่า “ทรัพยากรแร่” หรือ Mineral Resource นั้นหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียมแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการค้นพบ “แร่ดิบ” ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีแร่สำคัญคือ “แร่ลิเธียม” อยู่ในนั้นด้วย