
หลังแผ่นดินไหวใหญ่ 8.2 สะเทือนทั้งกรุงเทพฯ ส่งผลตึก 30 ชั้น ของ สตง.ถล่ม บ้าน คอนโด แตกร้าว ได้รับความเสียหาย นอกจากการเปิดให้ประชาชนที่อาศัยอยู่คอนโดพักอาศัยอยู่ที่สวนสาธารณะและอำนวยความสะดวกตั้งแต่วันแรกแล้ว กทม.ยังเร่งเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยได้ทำแอปพลิเคชัน ทั้งผ่านไลน์ Line @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ https://page.line.me/105rlyvn วิศวกรเพื่อแจ้งเมื่อพบรอยร้าวอาคารบ้านเรือนจากเหตุแผ่นดินไหว
วันนี้ (31 มี.ค. 68) ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเหตุการณ์ที่มีข่าวประชาชนตื่นตระหนกจากอาคารสั่นไหว ว่า…

เช้านี้มีเหตุการณ์ตื่นตระหนกในหลายอาคารว่ามีเหตุการณ์สั่นไหวและมีการอพยพคน ประเด็นแรกต้องมีสติ อย่าตื่นตระหนก เชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาหลายคนยังคงกลัวอยู่ ขอแจ้งว่าอาฟเตอร์ช็อก ที่เกิดขึ้นส่งผลกับประเทศไทยน้อยมากและมีขนาดเล็กมาก ซึ่งตามหลักแล้วไม่รู้สึกเลย
ประเด็นที่สอง ตึกที่ผ่านแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.68 มาได้ น้ำหนักของคนที่ขึ้นไปน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักของโครงสร้าง ตอนนี้น้ำหนักที่ตึกแบกอยู่คือตัวมันเอง ถ้าแบกตัวเองได้โอกาสพังทลายแทบไม่มีเลย
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า เรื่องที่ประชาชนกังวลในเรื่องรอยร้าว หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ประชาชนแจ้งเคสเข้ามากว่า 12,000 กรณี เราดูจากรูปแล้วประเมินว่า เป็นสีเขียว คือ เป็นรอยร้าวที่ไม่อันตราย เข้าอยู่อาศัยได้ 9,000 กว่าราย ขณะเดียวกันกรณีรอยร้าวที่ประเมินเป็นสีเหลือง ประมาณ 465 กรณี เราไปตรวจแล้ว 300 กรณีไม่มีปัญหา แจ้งให้เป็นสีเขียวแล้ว ในส่วนวันนี้ที่เหลือจะดำเนินการตรวจให้หมด คาดว่าไม่น่ากังวล

ด้าน ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ใน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) (BIM) เล่าให้อีจันฟังว่า การที่ กทม.สามารถแยกจำนวนตึกได้เร็วว่าตึกไหนเป็นสีเขียว (ไม่เสียหาย) สีเหลือง (เสียหายปานกลาง) และสีแดง (เสียหายมาก / อาจพังทลายได้) อย่างรวดเร็วจาก 12,000 เรื่องที่แจ้งเข้ามา เหลือเพียง 2 อาคารที่เสียหายห้ามเข้า เนื่องจากการตรวจสอบเบื้องต้นจะดูจากรูปถ้าอยู่ในสีเขียวก็เข้าอยู่ได้ หากเป็นสีเหลืองก็ส่งทีมวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ ต้องบอกว่า กทม.ทำงานหนัก ทำงานไว เพียงแค่ 2 วัน ก็สามารถตรวจสอบได้แล้ว เพราะหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว กทม.ได้ขอความร่วมมือวิศวกรรมาช่วยตรวจสอบ ขณะนี้มีวิศวกรรมมาร่วมงานนี้กว่า 300 คน
ดร.ทศพร เล่าถึงขั้นตอนการทำงานว่า เมื่อมีประชาชนแจ้งเข้ามาทาง แอปพลิเคชัน ทั้งผ่านไลน์ Line @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ https://page.line.me/105rlyvn วิศวกรจะลงพื้นที่ตรวจสอบวันละ 160-200 เรื่อง ซึ่ง กทม.ได้ออกคำสั่งให้ผู้ตรวจสอบอาคารประจำตึกตามกฎหมายลงตรวจรายงานใน 2 อาทิตย์ ซึ่งเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบจริง ได้ข้อสรุปว่าส่วนใหญ่เป็นความเสียหายด้านงานสถาปัตย์ และลิฟต์เคลื่อนติดขัด
นอกจากนี้ ดร.ทศพร กล่าวว่า ในส่วนของ วสท. ได้ทำแบบตรวจแบบง่ายๆ ไว้ให้ ทั้งในส่วนของความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร รวมไปถึงบันไดหนีไฟ และระบบวิศวกรรมอาคารที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ระบบลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบไฟฟ้าหลัก เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานมีความชัดเจนทั้งเรื่องมาตรการ ความเร่งด่วน การประเมิน ตรวจที่สงสัย และการตรวจใหญ่ ซึ่งครบถ้วนชัดเจน

ดร.ทศพร ย้ำว่า ผมชื่นชม กทม.มาก ทำงานเร็ว ส่วนใครที่ต้องการตรวจเร็วก็เสียเงินจ้างตรวจเอง โดยประสานกรมโยธาธิการซึ่งมีรายชื่อทั้งแบบบุคคลและแบบนิติบุคคลไว้ให้
ขณะที่การทำงานของทีมงานทั้งของ กทม.เอง และวิศวกรที่อาสามาช่วย ทุกคนกินข้าวกล่องที่จัดหามาให้ มีกล้วยไว้ให้กินด้วย กินอยู่กันแบบง่ายๆ เพราะเราต้องเร่งช่วยกันทำงาน ดร.ทศพร ยืนยันกับอีจันว่า ที่งานออกมาเร็ว เพราะทีมวิศวกรทำงานกันอย่างเต็มที่











