ป.ป.ช.รับพิจารณาคดี “บิ๊กโจ๊ก” พัวพันเว็บพนันมินนี่ไว้พิจารณา

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.67 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุม ป.ป.ช. รับพิจารณาคดี กรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับพวก เรียกรับเงินซึ่งพัวพันกับเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ และร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 4 : 1 เห็นว่า เป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งสูงกว่าผู้ร้องเรียน ซึ่งอยู่ในระดับผู้อำนวยการ และกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง มีผลกระทบในวงกว้าง เข้าหลายข้อในเรื่องความผิดร้ายแรง มูลค่าที่มีการกล่าวหากันก็มีมูลค่าสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ไม่สามารถมอบหมายให้ได้

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ดำเนินการตรวจสอบและไต่สวนเอง ประกอบกับมีเรื่องข้อกล่าวหาเดิมที่เคยส่งไปยังกองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันในเรื่องของบัญชีม้า ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องทำไปพร้อมกัน จึงมีมติให้ดึงสำนวนดังกล่าวกลับมาพิจารณาพร้อมกัน

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง 9 MCOT ว่า การที่ ป.ป.ช.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเองนั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการดึงเรื่อง หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไร แต่ที่ดึงคืนมาเพราะเป็นเรื่องร้ายแรง มอบหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องร้ายแรง มอบไม่ได้

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน ต้องดูสำนวนที่ส่งอัยการก่อนว่าครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากส่งมาครบก็สามารถสั่งไต่สวนได้เลย ไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อยู่ที่พยานหลักฐานที่ตำรวจส่งมา ถ้าครบถ้วนก็สั่งไต่สวนได้เลย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานมาชี้แจงได้เต็มที่

โดยกรอบเวลาการทำงาน ป.ป.ช.ต้องทำตามเวลาที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จคนที่รับผิดชอบสำนวนก็จะถูกสอบ ซึ่งกรอบเวลาของคดีนี้ถ้าตั้งกรรมการไต่สวนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพียงแต่ว่า พ.ร.บ.เขียนไว้ว่าให้ดำเนินการภายใน 2 ปี แต่เรามาวางหลักเกณฑ์ของเราเองว่าถ้ามีกรรมการไต่สวนต้องให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งวางกรอบไว้ หากจำเป็นก็ขยายได้แต่ต้องเข้าคณะกรรมการพิจารณาว่ามีปัญหาติดขัดอะไร

นายนิวัติไชย กล่าวว่า การที่ ป.ป.ช.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเองนั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการดึงเรื่อง หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไร แต่ที่ดึงคืนมาเพราะเป็นเรื่องร้ายแรง มอบหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องร้ายแรง มอบไม่ได้

ทั้งนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหากเป็นระดับล่างอาจจะมอบได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมอบไม่ได้ ประกอบกับมีเรื่องร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องการทำสำนวนของ ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ด้วย ป.ป.ช.จึงเห็นว่า ควรดำเนินการเอง ไม่ส่งตำรวจ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก รายการเจาะลึกทั่วไทย ทางช่อง 9 MCOT