ข้อควรหลีกเลี่ยง ไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต มีวิธี ป้องกัน อย่างไร

ทำความเข้าใจรู้จักไฟฟ้า ข้อควรหลีกเลี่ยง ไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต พร้อมรับมือ ป้องกัน ให้ปลอดภัยอย่างไร

เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หน้าฝนแล้ว ปัญหาที่พร้อมกับน้ำและความชื้น หลายๆ คนคงนึกถึง “ไฟช็อต ไฟดูด ไฟรั่ว” หรือเกิดเพลิงไหม้ได้แบบไม่คาดฝัน เนื่องจากน้ำก่อให้เกิดความชื้น และยังเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าที่ดีมาก สืบเนื่องจากกรณีนักเรียนโดนไฟฟ้าช็อตบริเวณเสาไฟฟ้าจนหมดสติ ทำให้เราต้องหันมาระวังตัวกันให้มากขึ้น แต่อันตรายจากไฟฟ้า สามารถป้องกันได้ ถ้าเราใส่ใจและไม่ประมาท เพื่อความปลอดภัยในชีวิต เตรียมพร้อมรับมือวิธีป้องกันอันตรายจากเหตุไฟฟ้ากันค่ะ

รู้เข้าใจ ไฟรั่ว..ไฟดูด..ไฟช็อต คือ?

ไฟรั่ว คือการที่กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากวงจรไฟฟ้าไปสู่ภายนอก เช่นผิวของสายไฟหรือโครงโลหะของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หากสัมผัสอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน การขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการเสื่อมสภาพของฉนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้มาเป็นเวลานาน ซึ่งจุดที่เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้าไหลจนเกิดความร้อนขึ้นและหากความร้อนสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติด ไฟจนเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได้

ไฟดูด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้าหรือกับสายไฟที่มีการรั่ว ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายและลงสู่พื้นดิน ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็ง อาจส่งผลให้หัวใจทำงานผิดจังหวะ และเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด สาเหตุของไฟดูดเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดทำให้มีกระแสไฟรั่วออกมา เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดูดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำคือตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุดโดยการถอดปลั๊ก ปิดเมนสวิตช์ ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

ไฟช็อต คือไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากการโอนกระแสไฟฟ้าจากสายไฟเส้นหนึ่งไปยังเส้นอื่น ๆ โดยที่ไม่ได้ผ่านอุปกรณ์โหลด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ จนเกิดความร้อนสูง และอาจทำให้เกิดประกายไฟและไฟไหม้ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบคือฉนวนของตัวสายไฟชำรุด หรือเกิดการแตะกันโดยบังเอิญ

โดนไฟดูดเข้าไปช่วยผู้ที่ถูกไฟดูด มีวิธีรอดอย่างไร

กรณีที่โดนไฟดูดเอง

– กระชากมือออกมาให้แรงที่สุด ถ้าไม่ได้ผลตั้งสติให้ร้องขอความช่วยเหลือให้ดังที่สุด

– มองหาฉนวนหรือสิ่งที่ไม่นำไฟฟ้า เช่นไม้ คว้าตัวออกมาหรือบอกให้คนอื่นเขี่ยคุณออก

– พยายามมีสติให้มากที่สุด เมื่อพ้นจากเหตุแล้ว ให้โทรหา 1669 สายด่วนกู้ชีพ

กรณีที่เข้าไปช่วยผู้ที่ถูกไฟดูด

– อย่าไปโดนตัวผู้ที่ถูกไฟดูดโดยตรง พยายามหาต้นตอของกระแสไฟ เพื่อเลี่ยงตนเองไม่ให้เป็นเป็นผู้ประสบเหตุอีกคน

– เบื้องต้นถ้าอยู่ในบ้าน สับคัทเอ้าท์ทุกตัวในบ้านลงให้หมด

-หากอยู่ในบ้านไม่ได้ใส่รองเท้า รีบหารองเท้ามาใส่ อย่าใสรองเท้าเปียกน้ำละ

– มองหาสิ่งของที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้า กระดาษแข็ง ด้ามพลาสติก สายยาง ถุงมือยางหนาๆ เชือก (ทุกอย่างต้องแห้ง ไม่เปียกน้ำ) สามารถใช้ของเหล่านี้เขี่ยเอาสิ่งที่ทำให้ผู้ประสบเหตุโดนไฟดูดออกไปจากร่างของผู้ป่วยได้ โดยเขี่ยเอาสายไฟออก เขี่ยมือ แขน หรือ เท้าออกจากบริเวณที่มีไฟดูด เป็นต้น หรือหากผู้ป่วยโดนไฟดูดทั้งร่าง ให้ใช้ผ้าแห้งพันมือหนาๆ แล้วผลักหรือฉุด กระชากผู้ประสบเหตุออกมาแรงๆ อย่างรวดเร็ว (ต้องสวมรองเท้าอยู่ด้วยนะ)

– หากจะเลือกช่วยด้วยการถีบ สามารถทำได้ แต่บริเวณข้างๆ ผู้ที่ถูกไฟดูดต้องมีพื้นที่โล่งๆ ให้ผู้ประสบเหตุล้มตัวลงไปโดยไม่เกิดบาดแผลเจ็บซ้ำเติม ถ้าจะถีบให้บอกผู้ประสบเหตุก่อนแล้วค่อยถีบช่วงก้นหรือสะโพกอย่างรวดเร็ว เอาให้หลุดออกมาจากบริเวณนั้นทั้งตัวให้ได้ในครั้งเดียว

– ในกรณีที่พบผู้ประสบเหตุถูกไฟดูดในบริเวณที่เสี่ยงเกินไป เช่น ในห้องน้ำที่พื้นเปียกชุ่ม ให้วิ่งหาตู้จ่ายไฟภายในบ้าน ที่กล่องเซอร์กิต เบรกเกอร์ หรือกล่องฟิวส์ เปิดกล่องขึ้นมา มองหาบล็อกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งจะมีที่จับ และอยู่ด้านบนสุดของกล่องฟิวส์ คว้าที่จับแล้วสับไปอีกด้านหนึ่ง เหมือนสับสวิตช์ไฟฟ้า ลองเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อทดสอบว่าตัดไฟแล้วจริงหรือไม่ แล้วค่อยวิ่งไปหาผู้ประสบเหตุ

– ในกรณีที่ผู้ประสบเหตุถูกไฟดูดในบริเวณที่มีไฟฟ้าแรงสูง ควรโทรแจ้งการไฟฟ้าให้เข้ามาดูแลจะดีกว่า สามารถโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 หลังจากนั้นด้วย

– เมื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้แล้ว ควรตรวจดูว่าเขายังมีสติมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังมีสติครบถ้วนให้นอนพัก ตรวจร่างกายว่ามีบาดแผลส่วนไหนร้ายแรงหรือไม่

– หากบาดแผลไม่ใหญ่มากให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่หากหมดสติให้รีบโทรแจ้ง 1669 ระหว่างนั้นหากผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำ CPR โดยด่วน

– สิ่งที่ต้องมีให้มากที่สุด คือ สติ และความรู้พื้นฐานในเรื่องของกระแสไฟ ตัวนำไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ อย่างไรก็ดีเราควรตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วให่มากที่สุด หากอยู่นอกบ้านก็ควรสังเกตรอบข้างให้ดีก่อนจะสัมผัสกับอะไร หากต้องสัมผัสที่จับอะไรที่เดาว่าทำมาจากโลหะ ให้ลองเอาหลังมือแตะเบาๆ ดูก่อนแล้วค่อยจับ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการถูกไฟดูดได้

นอกจากไฟฟ้าดูดที่เกิดขึ้นกับการสัมผัสสายไฟแล้ว ยังมีไฟดูดที่เกิดจากแรงดันช่วงก้าวขาระยะระหว่างก้าวที่สามารถสร้างอันตรายขึ้นได้ สมมติว่ามีแท่งอันนึง มีศักย์ไฟฟ้า 1000 โวลต์ ตรงจุดศูนย์กลางที่มันปักอยู่ก็จะ 1000 โวลต์ แล้วรัศมีที่แผ่ออกไปก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ 1000 โวลต์ 900 โวลต์ 800 โวลต์ 700 โวลต์ ลดไปเรื่อยๆ จนเป็น 0 โวลต์ ตามระยะที่ห่างจากจุดศูนย์กลาง

คราวนี้ถ้าขาเราบังเอิญ ข้างนึงจิ้มที่ 900 โวลต์ อีกข้างจิ้มที่ 700 โวลต์ ก็จะเกิดความต่างศักย์ระหว่างขาเราทั้งสองข้าง เท่ากับ 900-700=200 โวลต์ ความต่างศักย์ที่ว่าก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านขาเรา ถ้าผ่านน้อยๆ ก็กล้ามเนื้อกระตุก ผ่านมากก็ชักเกร็งติดอยู่ตรงนั้น ยิ่งติดนานก็ยิ่งอันตราย ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ เลี่ยงไม่ได้ หรือเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า พยายามก้าวขาแคบๆ หรือถ้ารู้สึกขนลุก มีอะไรทิ่มขา ก็พยายามหนีให้ไวแบบก้าวขาชิดๆ กระดึ้บๆ เพื่อโอกาสเสี่ยง แนวป้องกันที่ดีที่สุดคืออยู่ห่าง จากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่สัมผัสกับพื้นอย่างน้อย 10 เมตร

ข้อควรระวัง

หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนอยู่บนที่เปียกแฉะ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ไฟฟ้า หากจำเป็นต้องสัมผัสให้ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าปูพื้น เช่น แผ่นไม้แห้ง, แผ่นยาง, แผ่นพลาสติค และหากสงสัยว่ามีไฟรั่ว ให้ใช้ไขควงเช็คไฟตรวจสอบจุดที่สัมผัสก่อน

ไม่ควรประมาทเพราะหากไฟรั่วเกิน 30 มิลลิแอมป์ขึ้นไป อาจทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้

ขอบคุณ การไฟฟ้านครหลวง , สำนักงานบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน (กฟภ.) , plugthai , epcor , เพจเฟซบุ๊ก ฟิสิกส์แม่งเถื่อน

คลิปแนะนำอีจัน
ตามล่า ลอตเตอรี่! กองสลากพลัส