เปิดข้อเท็จจริง ตกลงน้องหญิงถูกตีหัวหรือตกรถ?

Innocence International Thailand วิเคราะห์ 16 ข้อเท็จจริง คดีน้องหญิงตกรถเทรลเลอร์ น้องหญิงถูกตีหัวหรือตกรถ?ลุ้นอ๊อฟสู้ความจริงในศาลฎีกา

จำคดีน้องหญิงตกรถเทรลเลอร์เสียชีวิตได้ไหม? คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่เมื่อ 15 พ.ค.2563 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาเป็นจำคุก “อ๊อฟ” ตลอดชีวิต!!!

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
คำพิพากษาพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออ๊อฟฆ่าคนตาย หรือน้องหญิงตกรถกันแน่นั้น อ๊อฟจะยังมีโอกาสสุดท้าย คือ การพิจารณาของศาลฎีกา แต่วันนี้ลองอ่านข้อเท็จจริงจาก Innocence International Thailand จิตอาสาจากนักกฎหมาย นักวิชาการ แพทย์ สื่อมวลชน และนักนิติวิทยาศาสตร์ ที่รวมตัวกันทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจและอาจเป็นแนวทางในการทำคดีที่มีความใกล้เคียงกันแบบนี้ในอนาคต Innocence International Thailand เรียบเรียงไว้ ดังนี้ กรณีศึกษา: ถูกตีหัวหรือตกรถ? ข้อมูลทางคดี : คืนวันที่ 19 ก.ค.61 "น้องหญิง" น.ส.นรีกานต์ ยาวิราช อายุ 19 ปี ตกจากรถเทรลเลอร์เสียชีวิตอย่างปริศนา ต่อมาวันที่5 ก.ค.62 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้อง นายสุรพล ดาราคำ หรือ อ๊อฟ อายุ 23 ปีที่ตกเป็นจำเลยโดยให้เหตุผลว่าพบดีเอ็นเอของผู้ตายบริเวณบันไดด้านซ้ายของรถบรรทุกซึ่งสอดคล้องกับกับความคิดเห็นของพยานจำเลย ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนิติเวช อาจสงสัยได้ว่าผู้ตายอาจพลัดตกจากรถกระแทกบันไดและศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตายโดยโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าบาดแผลของผู้ตายถูกทำร้ายด้วยอาวุธชนิดใด นอกจากนี้พยานหลายปากให้การสอดคล้องกันเชื่อได้ว่านายอ๊อฟไม่ได้กักขังหรือบังคับผู้ตายโดยผู้ตายยังสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกับพยานฝ่ายโจทก์ได้
ภาพจากอีจัน
ต่อมาวันที่ 15 พ.ค. 63 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้ของแข็งไม่ทราบชนิดและขนาดตีศีรษะผู้ตายเป็นเหตุให้กะโหลกศีรษะแตกสมองช้ำเลือดถึงแก่ความตาย พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ถึงวันนี้ ความตายของน้องหญิงจึงยังคงเป็นปริศนารอคอยการชี้ขาดของศาลฎีกาต่อไป บทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะวิจารณ์การรับฟังพยานหลักฐานและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผลและสาเหตุการตายในกรณีศึกษานี้โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ถูกต้องแม่นยำตามหลักวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สังคมและผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมในอนาคตเท่านั้นซึ่งผู้เขียนจะวิเคราะห์ทีละประเด็นดังนี้ 1. บาดแผลฟกช้ำบริเวณหนังศีรษะ เป็นบาดแผลฟกช้ำที่มีตำแหน่งหลายตำแหน่งและรูปร่างแตกต่างกัน แต่ละจุดนั้นไม่ได้มีลักษณะจำเพาะที่จะยืนยันได้ว่าเป็นวัตถุใด หากเป็นวัตถุชนิดเดียวควรมีบาดแผลฟกช้ำที่มีรูปร่างและลักษณะที่มีรูปร่าง ลักษณะ ขนาดที่เท่ากัน ในขณะบาดแผลฟกช้ำหลายตำแหน่งที่แตกต่างทั้งรูปร่างและลักษณะเช่นนี้สามารถเกิดได้จากการกระทบกับพื้นผิวที่มีลักษณะแข็งและพื้นผิวที่มีความตื้นและลึกไม่สม่ำเสมอหรือมีการกระดอนของศีรษะหลังจากกระแทกครั้งแรก และในกรณีที่ศีรษะกระแทกกับวัตถุที่มีพื้นที่หน้าตัดน้อยเช่นค้อนมักจะทำให้เกิดบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ
ภาพจากอีจัน
2. การแตกของกะโหลกศีรษะ สอดคล้องกับการวิเคราะห์ในข้อแรกที่ศีรษะน่าจะไปกระแทกกับของแข็งที่มีลักษณะพื้นที่สัมผัสที่กว้างและกระแทกด้วยความแรงที่มาก และสามารถเกิดได้จากการกระแทกเพียงครั้งเดียว การแตกของกะโหลกดังรูปประกอบด้วยรอยแตกเส้นรัศมีหลายเส้น (Stellate fractures) หรือ (Radial fractures) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าแตกออกมาจากจุดกระทบจุดเดียวกัน และยังประกอบไปด้วยรอยแตกที่มีลักษณะเป็นเส้นวงรอบจุดกระทบ (Circular fracture) ซึ่งการแตกของกะโหลกศีรษะทั้งสองลักษณะที่พบในรูปนี้ มีข้อมูลทางวิชาการในตำราที่สามารถอธิบายได้มากมายทั้งตำราต่างประเทศและตำราในประเทศไทย


3.การแตกของกะโหลกศีรษะในกรณีที่มีการกระแทกกับวัตถุของแข็งที่มีพื้นที่หน้าตัดน้อยๆการแตกของกะโหลกศีรษะในกรณีที่มีการกระแทกกับวัตถุของแข็งที่มีพื้นที่หน้าตัดน้อยๆ หรือวัตถุที่มีขนาดไม่ใหญ่มักจะทำให้เกิดการแตกของกะโหลกศีรษะเป็นการแตกยุบที่มีขนาดและรูปร่างของการแตกยุบที่เข้าได้กับวัตถุที่มากระทบ โดยเฉพาะหากวัตถุนั้นมีพื้นที่หน้าตัดน้อยกว่า 16 ตารางเซนติเมตรซึ่งมีตำราอ้างอิงทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศดังตัวอย่างด้านล่างซึ่งในกรณีนางสาวนรีกานต์ยาวิราช การแตกของกะโหลกศีรษะไม่เข้ากับการแตกในลักษณะวัตถุนั้นมีพื้นที่หน้าตัดน้อยกว่า 16 ตารางเซนติเมตร

ภาพจากอีจัน

4.การบาดเจ็บภายในกะโหลกศีรษะ

4.1 การฟกช้ำของเนื้อสมองของนางสาวนรีกานต์ ยาวิราช นั้นพบ การฟกช้ำของเนื้อสมองใน 2 ลักษณะคือ การฟกช้ำของเนื้อสมองด้านตรงข้ามจุดกระทบ (Contrecoup contusion) และการฟกช้ำด้านในของเนื้อสมองตามแนวแรง (Intermediary coup contusions)
พบว่าเนื้อสมองที่ฟกช้ำรุนแรงในกรณีของผู้ตายนั้นอยู่บริเวณข้างซ้ายกลีบหน้าและกลีบล่าง ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามจุดกระทบซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังข้างขวา จัดเป็นการฟกช้ำของเนื้อสมองชนิดสมองฟกช้ำด้านตรงข้ามจุดกระทบ (Contrecoup contusion) ซึ่งเป็นการฟกช้ำของเนื้อสมองที่มีความเฉพาะต่อการเคลื่อนที่ของศีรษะมากระแทกพื้น

ภาพจากอีจัน
4.2 พบการฟกช้ำด้านในของเนื้อสมองตามแนวแรง (Intermediary coup contusions) จากรูปหน้าตัดเนื้อสมองในวงกลมสีแดง เช่นเดียวกับผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจากเวชระเบียนผู้ตายที่พบจุดเลือดออก (Petechial hemorrhage) บริเวณ corpus callosum และ basal ganglia ทั้งสองข้าง (bilateral basal ganglia) ซึ่งการฟกช้ำของเนื้อสมองในลักษณะนี้สัมพันธ์กับ กรณีที่ศีรษะเคลื่อนที่มากระแทกกับพื้นและการฟกช้ำด้านตรงข้ามนั้นจากเกิดแรงสะท้อนของแรงที่เกิดจากความเร่ง-ความหน่วงในกะโหลกศีรษะ 5.พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา(เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก)(Subdural hematoma) พบว่าโดยส่วนใหญ่ที่พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นดูรานั้นมักจะเกิดจากสาเหตุที่ศีรษะเคลื่อนที่ไปกระแทกพื้น และมักจะพบร่วมกับการฟกช้ำของเนื้อสมองด้านตรงข้ามจุดกระทบ (contrecoup contusions) ซึ่งโดยสรุปการบาดเจ็บบริเวณหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ และภายในกะโหลกศีรษะและเนื้อสมองในผู้ตายนั้นจะเป็นการบาดเจ็บที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของศีรษะมากระแทกกับวัตถุแข็งที่มีพื้นที่หน้าตัดกว้าง
ภาพจากอีจัน
6.บาดแผลฟกช้ำถลอกที่มีรูปร่างตารางบริเวณต้นแขนซ้ายด้านหลัง เมื่อพิจารณาบาดแผลถลอกฟกช้ำรูปตารางบริเวณต้นแขนซ้ายด้านหลังของผู้ตาย เทียบกับส่วนบันไดที่พักเท้าของรถเทรลเลอร์ตามภาพ พบว่ามีรูปร่างและขนาดเหมือนกันจึงมีความเป็นไปได้ว่า บาดแผลดังกล่าวที่พบบนแขนซ้ายนั้นเกิดจากการที่แขนของผู้ตายตกไปกระแทกกับตำแหน่งดังกล่าวของรถเทรลเลอร์ ทำให้เกิดเป็นลักษณะบาดแผลถลอกฟกช้ำที่มีความเฉพาะจนเกิดเป็นรอยประทับ ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับผลตรวจสารพันธุกรรมบริเวณบันไดขึ้นรถเทรลเลอร์ข้างซ้ายจากรายงานพิสูจน์หลักฐานของกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจซึ่งพบว่ามีสารพันธุกรรมของผู้ตายอยู่ที่บันไดขึ้นรถเทรลเลอร์ฝั่งซ้าย ซึ่งอาจเกิดแขนซ้ายผู้ตายมีการกระแทกกับบันไดดังกล่าว
ภาพจากอีจัน
7.บาดแผลถลอกที่พบหลากหลายตำแหน่งบริเวณแขนและขา
ภาพจากอีจัน
บาดแผลถลอกตื้นที่พบบริเวณแขนและขาจำนวนมากนั้น เป็นลักษณะของบาดแผลถลอกครูด (Brush abrasion หรือ Graze abrasion) ซึ่งบาดแผลลักษณะนี้เกิดจากการที่ผิวหนังมีการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุในลักษณะที่มีการเคลื่อนที่ ณ เวลาที่ผิวหนังและวัตถุสัมผัสกัน ซึ่งมักเจอได้บ่อย ในการบาดเจ็บทางจราจรและในการตกจากที่สูงซึ่งกรณีที่ตกลงมาจากรถที่อยู่นิ่ง หรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่มากนักจะพบบาดแผลถลอกครูดขนาดเล็กๆ ดังที่พบบาดแผลถลอกครูดบริเวณแขนและขาของผู้ตายได้


8.บาดแผลฟกช้ำบริเวณหลังมือขวา และสันมือ

ภาพจากอีจัน
รอยฟกช้ำบริเวณหลังมือขวา และสันมือขวาโคนนิ้วกลาง โคนนิ้วนาง โคนนิ้วก้อย ซึ่งเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการกระแทกกับของแข็งไม่มีคม โดยจะเป็นการที่มือไปกระแทกกับของแข็งไม่มีคมหรือของแข็งไม่มีคมมากระแทกกับมือก็ได้ โดยไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแผลจากการต่อสู้หรือป้องกันตัว และบาดแผลดังกล่าวสามารถเกิดจากการตกแล้วมือไปกระแทกกับวัตถุแข็งได้เช่นกัน อีกทั้งรอยฟกช้ำบริเวณหลังมือขวานั้นอาจเกิดจากการแทงเส้นเลือดดำด้วยเข็มเพื่อให้สารน้ำแก่ร่างกายในขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มักจะมีการแทงเข็มเพื่อให้สารน้ำ โดยจากรูปดังล่าวจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีคราบกาวจากเทปกาวเพื่อยึดเข็มให้น้ำเกลือหลงเหลืออยู่ 9.การรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญระหว่างโจทย์ และจำเลย การรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นจำเป็นที่จะต้องชั่งน้ำหนักจากปัจจัยที่สำคัญคือความรู้ความสามารถ และคุณวุฒิของพยานนั้นเป็นคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ที่มีคุณวุฒิเฉพาะนั้นหมายถึงผู้ที่ผ่านการฝึกฝน และร่ำเรียนจากการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ จากตำรา และการทำการปฏิบัติงานนั้นแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ และการให้ความเห็นที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และผ่านการสอบรับรองคุณวุฒิเฉพาะทางจากแพทยสภาพยานผู้เชี่ยวชาญที่จำเลยทั้ง 3 ท่านต่างก็มีวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และยังมีวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาพยาธิวิทยากายวิภาคอีกด้วย ย่อมจะต้องรู้ถึงความแตกต่าง ถึงการร่ำเรียนและความเชี่ยวชาญระหว่างสาขานิติเวชศาสตร์และพยาธิวิทยากายวิภาคเป็นอย่างดี และพยานที่มีวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชทั้ง 3 ท่านนั้นต่างก็ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การบาดเจ็บที่พบในศพของนางสาวนรีกานต์ ยาวิราช นั้นสามารถเกิดได้จากการตกจากรถโดยสามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ อีกทั้งทั้ง 3 ท่านต่างชี้ให้เห็นว่าบาดแผลฟกช้ำบริเวณหลังมือขวานั้นไม่เพียงพอที่จะบอกว่าเกิดจากการต่อสู้ป้องกันตัวแต่น่าเสียดายแม้จำเลยจะร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้สอบพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้าสู่สำนวนเพื่อทำความจริงให้ปรากฏแต่กลับได้รับการปฏิเสธ 10.การวิเคราะห์ผลจากรูปถ่ายการผ่าศพ ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง การวิเคราะห์ และการแปลผลนั้นจะถูกต้องน่าเชื่อถือหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนผ่าพิสูจน์แล้วจะแปลผลได้ถูกต้อง เนื่องจากผู้ผ่าพิสูจน์หากไม่มีองค์ความรู้ที่ดี ไม่ได้ผ่านการอบรมทางสาขาเฉพาะนิติเวชศาสตร์มานั้นก็ย่อมที่จะไม่สามารถแปลผลเกี่ยวกับกลไกการเกิดบาดแผล กลไกการเกิดการบาดเจ็บ และกลไกการเสียชีวิตได้อย่างดี และโอกาสผิดพลาดก็ย่อมมีมากกว่าผู้ที่ผ่านการอบรมทางด้านนิติเวชศาสตร์มาโดยเฉพาะ และการแปลผลจากรูปนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เนื่องจากรูปถ่ายนั้นก็เป็นรูปถ่ายที่ผู้ทำการผ่าพิสูจน์เป็นคนถ่ายเอง และนำมาใช้ในการให้ความเห็นเอง รูปถ่ายดังกล่าวก็ย่อมสะท้อนถึงความเป็นจริงที่อยู่บนตัวศพ และการพิจารณาว่าแพทย์นั้นให้ความเห็นถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ หากไม่มีศพเหลืออยู่แล้ว ในทางสากลก็ใช้การแปลผลจากรูปถ่ายการผ่าศพนั่นเอง โดยหากผู้ที่ดูรูปถ่ายจากการผ่าศพหรือรายงานที่ได้รับการรับรองว่าผู้ผ่าศพเป็นผู้จัดทำขึ้นเองนั้น สามารถให้ความเห็นได้อย่างสมเหตุผลผล และมีหลักฐานทางวิชาการที่แพทย์ทั่วโลกให้การยอมรับเป็นสากลแล้ว ย่อมที่จะรับฟังได้มากกว่า แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพที่ให้ความเห็นโดยไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ และไม่มีแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพจากอีจัน

ผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานในห้องโดยสารรถเทรลเลอร์ตามรายงานพบว่าไม่พบคราบโลหิตในรถเทรลเลอร์และในขณะที่ตรวจนั้น เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานพบว่าประตูรถเทรลเลอร์ฝั่งซ้ายมีสภาพชำรุดเสียหาย ไม่สามารถปิดได้สนิทจึงมีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ตายตกลงจากรถที่มีความสูงได้
11.หากจำเลยกระทำการโดยการประสงค์จะทำให้ผู้ตายเสียชีวิตจริง เหตุใดหลังจากเวลาที่เชื่อว่าผู้ตายได้รับบาดเจ็บแล้ว จำเลยถึงต้องขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด มุ่งตรงไปโรงพยาบาลการุณเวชทันทีเพื่อหวังให้แพทย์และพยาบาลทำการรักษาผู้ป่วย เพราะหากผู้ตายรอดชีวิตย่อมเป็นผลเสียกับจำเลย เนื่องจากผู้ตายก็จะสามารถแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นได้กับผู้อื่น โดยทั้งหมดนี้มีผลการตรวจพิสูจน์ GPS ว่าจำเลยขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หลังจากรถจอดนิ่ง และเส้นทางการเดินรถหลังจากจุดนั้นก็มุ่งตรงไปที่โรงพยาบาลการุณเวชทันทีในช่วงเวลา 05.49.42-05.55.23 น. โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที เท่านั้นนอกจากนั้นการให้การของจำเลยว่าไปตามคนมาช่วยยกผู้ตายขึ้นรถจนกระทั่งยกผู้ตายขึ้นรถสำเร็จก็มีระยะเวลาที่สมเหตุสมผล

12.คลิปเสียงสนทนาของผู้ตายกับนางสาวสายรุ้งที่เวลา 05.38.39 น.เป็นเวลา 28 นาที ที่ผู้ตายร้อง แสดงถึงการเจ็บปวด
มีการส่งคลิปเสียงดังกล่าวให้ ปอท.มีการถอดเทปโดยใช้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด 13 คน ซึ่งการถอดเทปนั้นยากเนื่องจากเสียงไม่ชัดเจน แต่การถอดเทปดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ ปอท.จำนวนไม่น้อยถอดเทปได้คำว่า หนูตกรถ หนูปวดหัว พี่โทรหาหนูหน่อยเช่นกันนั่นหมายความว่าคลิปเสียงนี้สามารถบอกได้เช่นกันว่า ผู้ตายตกจากรถจริงๆ หลังจากตกรถจึงขอความช่วยเหลือ

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
13. วิเคราะห์ตามคำ ให้การของนางสาวสายรุ้งเกี่ยวกับการสนทนากับผู้ตายในช่วงสุดท้ายนางสาวสายรุ้งเบิกความว่า เวลา 5.38 น. ผู้ตายโทรมาหา แต่ผู้ตายร้องไห้อย่างหนักและฟังไม่ได้ศัพท์ แล้วผู้ตายบอกให้โทรกลับหน่อย และหากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ทำร้ายจริง จำเลยที่ 1 คงไม่เปิดโอกาสให้ผู้ตายได้โทรศัพท์ไปหานางสาวสายรุ้งเพื่อขอความช่วยเหลือ และการที่ผู้ตายสามารถโทรศัพท์ไปหานางสาวสายรุ้งได้นั้นก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนว่าในขณะที่ผู้ตายหล่นจากรถนั้น โทรศัพท์ของผู้ตายอยู่ในมือของผู้ตาย โดยที่โทรศัพท์มือถือไม่ปรากฏความเสียหายนั้นเนื่องมาจากส่วนที่รับการกระแทกคือหลังมือของผู้ตายนั่นเอง โดยปรากฏบาดแผลฟกช้ำบริเวณหลังมือขวาอีกทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ ปอท. ซึ่งเป็นคนกลางซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความ กลับฟังได้ว่าผู้ตายบอกว่าตกลงมา ปวดหัว และโทรกลับหาหน่อยซึ่งประโยคว่า ให้โทรศัพท์กลับหน่อย นางสาวสายรุ้งได้ยินเช่นกันดังที่ได้เบิกความไว้ 14.ความสูงของรถเทรลเลอร์และความสูงของเตียงผู้ป่วย ความสูงของเบาะรถเทรลเลอร์จากพื้นสูงถึง 180 ซม. ในขณะที่เตียงคนไข้มักมีขนาดสูงระดับเอว การยกผู้ตายขึ้นรถเทรลเลอร์จึงไม่สามารถทำได้คนเดียวได้ง่ายนักเมื่อเทียบกับยกขึ้นเปลผู้ป่วย 15.ประเด็นเรื่องโทรศัพท์มือถือของผู้ตายไม่ปรากฏสภาพเสียหาย ไม่จำเป็นเสมอไปว่าหากโทรศัพท์มือถือหล่นลงมาแล้วจะต้องมีสภาพเสียหายปรากฏเสมอ เช่น หากตกลงไปยังพื้นผิวที่ไม่แข็งเช่นพงหญ้า เนื่องจากปรากฏว่าบริเวณข้างทางนั้นก็ประกอบไปด้วยพงหญ้า หรือตอนที่ผู้ตายตกจากรถนั้นผู้ตายกำโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ซึ่งหลังจากผู้ตายตกลงมากระแทกกับพื้นแล้วโทรศัพท์มือถืออาจหลุดหลังจากนั้นซึ่งความสูงก็ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเสียหายต่อโทรศัพท์มือถือ 16.ประเด็นที่จำเลยให้การในชั้นพนักงานสอบสวนว่าผู้ตายกระโดดลงไปเอง ข้อเท็จจริงคือจำเลยเพียงแค่เห็นว่าผู้ตายหล่นลงไปจากรถ แต่จำเลยนั้นสำคัญผิดว่าผู้ตายกระโดดลงไป ซึ่งในความเป็นจริงจำเลยก็ไม่รู้ว่าผู้ตายกระโดดหรือหล่นลงไปเอง ซึ่งในภายหลังก็ปรากฏชัดเจนว่าประตูรถเทรลเลอร์ฝั่งซ้ายนั้นมีสภาพเสียหายจริงไม่สามารถปิดได้สนิท จากการตรวจพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ข้อเท็จจริงนี้จะบอกความจริงได้มากแค่ไหน รอลุ้นความจริงจากปากอ๊อฟในศาลฏีกา