ผลเป็นลบทุกคน! ผู้สัมผัสชาวเมียนมาติดโควิด-19

สธ.รายงานผลคัดกรอง 189 ผู้สัมผัส 3 ชาวเมียนมา คนขับรถส่งของชายแดนแม่สอด หลังพบติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ

บ่ายวันนี้ (11 ต.ค. 63) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชาวเมียนมา บริเวณชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก

ภาพจากอีจัน
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เตรียมพร้อมยา-เวชภัณฑ์ -ห้องปฏิบัติการ โดยพื้นที่ชายแดนแม่สอดสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 20-30 คน นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษด้านสาธารณสุข พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทันที และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค เครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ช่วยสื่อสารข้อมูลกับประชาชนทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน
ภาพจากอีจัน
สำหรับการตรวจพบพนักงานขับรถขนส่งสินค้าชาวเมียนมาติดเชื้อโควิด-19 นั้น กรมควบคุมโรคสามารถดำเนินการติดตามได้ภายใน 24 ชั่วโมง ถือว่าทันเหตุการณ์ และมีความเสี่ยงน้อย เนื่องจากปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ขอความร่วมมือประชาชนการ์ดอย่าตก คงมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะช่วงประเพณีทอดกฐินและลอยกระทง สามารถจัดงานได้ แต่ขอให้รักษามาตรการป้องกัน ตระหนักแต่ไม่ตระหนกขอให้รับฟังข่าวสารทางการจากกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัด



ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตรวจพบพนักงานขับรถชาวเมียนมาติดโควิด-19 ในครั้งนี้ เกิดจากการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคบริเวณพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งจากการคาดการณ์เหตุการณ์การระบาดที่อาจเกิดขึ้นใน 3 รูปแบบ เหตุการณ์นี้ถือว่าอยู่ในรูปแบบที่ 1 คือ พบผู้ติดเชื้อ สามารถตรวจจับและควบคุมได้ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งทีมสอบสวนโรคจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงจัดรถตรวจเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน 3 คัน ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผู้สัมผัสในฝั่งไทยที่โกดังอาลี และโกดังสิงห์รุ่งเรือง ส่วนอีกคันพื้นที่จะเป็นผู้เลือกจุดให้บริการ สนับสนุนชุดตรวจน้ำยา PCR จำนวน 1,000 ชุด และชุดตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันหรือ Rapid Test จำนวน 2,000 ชุด เพื่อให้มีวัสดุอุปกรณ์ใช้อย่างเพียงพอ ควบคุมสถานการณ์ให้เร็วที่สุด

ในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่อำเภอแม่สอดในครั้งนี้ ดำเนินการในกลุ่มพนักงานขับรถขาเข้าไทยและเมียนมา ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2563 จำนวน 115 ราย ใช้การตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบผลเป็นบวก 2 ราย เป็นชาวเมียนมา ไม่มีอาการ ทั้งสองรายเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเมียวดี โดยผลการตรวจยืนยันให้ผลบวกตรงกันกับประเทศไทย จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อทั้งสองรายเดินทางมาจากเมืองเมียวดี โดยรายที่ 1 เดินทางเข้าไทย รอบเช้า 10.00 น. รอบบ่าย 15.00 น. ไปที่โกดังอาลี แยกขายปลาตลาดพาเจริญ และโกดังสิงห์รุ่งเรือง รายที่ 2 เดินทางเข้า 10.00 น. ออกจากด่าน 16.00 น. ไปยังโกดังสิงห์รุ่งเรืองแห่งเดียว อยู่ในประเทศไทยไม่เกิน 7 ชั่วโมงตามมาตรการที่กำหนด ทั้งนี้ ในฝั่งของเมียวดี มีผู้สัมผัสที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน 100 คน ทั้งหมดได้ถูกส่งเข้า state quarantine ของเมียนมา

ภาพจากอีจัน
สำหรับวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ได้เชิงรุกคัดกรองแรงงานเมียนมาและคนไทยในชุมชนฝั่งไทยจำนวน 74 คน ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR พบผลเป็นลบแล้ว 60 ราย ผลเป็นบวก 1 ราย เป็นพนักงานขับรถชาวเมียนมาเช่นกัน นับเป็นรายที่ 3 สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดพนักงานขับรถชาวเมียนมาทั้ง 3 ราย ในฝั่งไทยพื้นที่จะดำเนินการสอบสวนโรคให้ได้ข้อมูลต่อไป เบื้องต้นคาดว่ามีประมาณหลักร้อยคน ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อยู่ระหว่างหารือมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง และดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสอบสวนและมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีการประสานงานและมีความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นอย่างดีในการป้องการแพร่เชื้อข้ามพรมแดนด้วยระบบเฝ้าระวังกักกันที่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคที่มีความเข้มแข็งและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422