รู้ยัง! 5 เทคนิคลูกจ้างสู้กลับ ‘นายจ้าง’ เอาเปรียบ

ทนายเจมส์ เปิด 5 เทคนิค ที่ลูกจ้างต้องรู้ สู้กลับ ‘นายจ้าง’ เอาเปรียบ จะได้ไม่เสียผลประโยชน์จากนายจ้างที่นิสัยไม่ดี

มั่นใจว่าร้อยทั้งร้อยคงไม่มีใครอยากถูกเอาเปรียบในที่ทำงาน โดยเฉพาะจาก ‘นายจ้าง’ที่คิดว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ จนทำให้คนทำงานอย่างเราต้องก้มหน้าก้มตาทำไป ทั้งที่ความเป็นจริง แล้วสิ่งที่นายจ้างกำลังปฏิบัติกับเราอยู่ อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเราอยู่ก็เป็นได้

สัปดาห์นี้ ‘ทนายเจมส์’ ได้หยิบยก 5 เทคนิคที่ลูกจ้างต้องรู้ สู้กลับ ‘นายจ้าง’ เอาเปรียบ มาให้ลูกจ้างเตรียมรับมือ จะได้ไม่เสียผลประโยชน์จากนายจ้างที่นิสัยไม่ดี

1.อย่าเซ็นใบลาออก ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความผิด

จากประสบการณ์ในหลายคดีพบว่า นายจ้างมักจะยัดเยียดความผิดให้กับลูกจ้าง อาศัยประสบการณ์และความรู้ที่มีมากกว่าลูกจ้างชักแม่น้ำทั้งห้า เกลี้ยกล่อม เพื่อให้ลูกจ้างรู้สึกว่าลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด และหลอกล่อให้ลูกจ้างยินยอมลงลายมือชื่อในใบลาออก ทั้งที่ ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการ หรือเป็นเพียงความผิดเล็กน้อยที่สามารถตักเตือน ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือทำทัณฑ์บน หรือลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการไล่ออกหรือให้ออก

เมื่อลูกจ้างยินยอมลงลายมือชื่อในใบลาออก ลูกจ้างย่อมหมดสิทธิ์ที่จะได้รับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ เนื่องจากเป็นการหรือลาออกโดยสมัครใจ แต่ก็มีบางเคสที่นำคดีไปฟ้องศาลโดยอ้างว่า การลงลายมือชื่อในใบลาออก เกิดจากการที่ถูกบังคับขู่เข็ญหรือหลอกลวงจากนายจ้าง ซึ่งศาลจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น อายุวุฒิการศึกษา ตำแหน่งงาน ประสบการณ์ และสถานการณ์ในขณะนั้น ฯลฯ ว่าลูกจ้างมีเวลาในการคิดไตร่ตรองก่อนที่จะลงลายมือชื่อในใบลาออกหรือไม่

หากศาลพิจารณาแล้วจากพฤติการณ์เชื่อว่า ลูกจ้างมิได้สมัครใจลงลายมือชื่อในใบลาออก แต่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญหรือหลอกลวงศาลก็จะพิพากษาให้นายจ้างชำระเงินเดือน เงินค่าชดเชยตามอายุงาน หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือ ค่าเสียหายอื่นๆ

2.นายจ้างไม่มีสิทธิ์ยึด/อายัดค่าจ้างหรือเงินเดือนของลูกจ้าง ทั้งที่ลูกจ้างโกงหรือทุจริต

กรณีที่ลูกจ้างทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือ ทุจริตต่อหน้าที่ แต่นายจ้างก็ไม่มีสิทธิ์ยึด/อายัดค่าจ้างหรือเงินเดือนของลูกจ้าง แต่ทั้งนี้ นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะใช้ฟ้องลูกจ้างต่อศาล เนื่องจากลูกจ้างปฎิบัติหน้าที่หรือ ผิดสัญญาจ้างแรงงาน เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และใช้สิทธิ์บังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกจ้างหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

แม้นายจ้างจะไม่มีสิทธิ์ยึด/อายัดเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างก็ตาม แต่นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างได้ 6 กรณี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 ได้บัญญัติยกเว้นให้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5) ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

3. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่สามารถโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ในส่วนของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นไม่สามารถโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น นายจ้างหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่สามารถอายัดเงินดังกล่าวได้ ตลอดจนไม่สามารถจะทำบันทึก หรือหลักฐาน เพื่อโอนสิทธิเรียกร้องจากกองทุนดังกล่าวให้แก่นายจ้างหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้

พระราชบัญญัติ กองทุนสารองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 243 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 มาตรา 23/2 และมาตรา 23/3 ไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

4. ลูกจ้างควรระวัง กรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้างโดยที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร

จากประสบการณ์พบว่าการที่นายจ้างออกคำสั่งเลิกจ้างนั้นจะต้องมีลายลักษณ์อักษรและจะต้องมีเหตุแห่งการเลิกจ้างด้วย จึงจะเป็นหนังสือเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายจ้างบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ลูกจ้างจะต้องมีพยานหลักฐานอย่างอื่นมาแสดงต่อศาล มิฉะนั้น อาจจะเป็นช่องให้นายจ้างใช้เป็นข้ออ้างว่าลูกจ้างขาดงานเกินกว่าสามวัน อันเป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 119

5.นายจ้างเอาเปรียบ ร้องที่ไหนได้บ้าง

กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน/รายได้ หรือปฏิบัติผิดกฏหมายในเรื่องอื่นๆ ลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้ที่เจ้าพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างสะดวก ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องไปร้องเรียนเจ้าพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างทำงานหรือเคยทำงาน หรือสถานที่ตั้งของบริษัทนายจ้าง เมื่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะต้องมีคำสั่งให้นายจ้างชำระค่าจ้าง/รายได้หรือค่าเสียหายอื่นๆ ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน

นอกจากนี้ ลูกจ้างยังมีสิทธิ์ที่จะนำคดีฟ้องต่อศาลแรงงานได้ ทั้งนี้ ลูกจ้างไม่จำเป็นจะต้องว่าจ้างทนายความก็ได้ เนื่องจากศาลแรงงานจะมีนิติกรช่วยในการเขียนคำฟ้องและรวบรวมพยานหลักฐานให้กับลูกจ้างด้วย

คลิปอีจันแนะนำ
หวิดตาบอด ในวัย 59 ปี