รู้ไว้ปลอดภัยกว่า! รัฐฯ แนะวิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า 

รู้ไว้ปลอดภัยกว่า! รองโฆษกรัฐบาล แนะ วิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ในช่วงพายุฤดูร้อน ทั้งตอนอยู่กลางแจ้ง ในบ้าน และรถยนต์ ใครทำอยู่เลิกซะ

ช่วงหน้าฝนแบบนี้ นอกจากจะระวังป่วยไข้หวัดจากการตากฝนแล้ว อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ “ฟ้าผ่า” เพราะมันใกล้ตัวกว่าที่คิดค่ะ ป้องกันไว้ดีกว่าจะไม่มีโอกาสได้แก้ไข 

วานนี้ (12 พ.ค. 68) เวลา 08.30 น. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่าในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน โดยไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา งดประกอบกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเกิดฝนฟ้าคะนอง ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ไม่ใช้เครื่องมือสื่อสารและเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงไม่จอดรถยนต์ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือป้ายโฆษณา และไม่ควรออกมานอกตัวรถขณะมีฝนฟ้าคะนอง 

นายคารม กล่าวว่า เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี เป็นช่วงหน้าฝนของประเทศไทย มีสภาพอากาศแปรปรวน หลายพื้นที่ประสบกับพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยขณะเกิดฝนฟ้าคะนองมักเกิดฟ้าผ่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต วิธีปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า มีดังนี้  

– กรณีอยู่กลางแจ้ง ไม่อยู่ใกล้สิ่งปลูกสร้างที่มีความสูงโดดเด่น เช่น ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา  

– อยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นโลหะ เช่น รั้วลวดหนาม รางรถไฟ ท่อน้ำ  

– ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ทอง เงิน นาค ทองแดง สร้อยโลหะ  

– ไม่ถือวัตถุที่เป็นโลหะในระดับเหนือศีรษะ เช่น ร่มที่ยอดเป็นโลหะ เครื่องมือทางการเกษตรที่เป็นโลหะ เนื่องจากเป็นสื่อนำไฟฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้  

– ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีวัสดุจำพวกโลหะเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำคลื่นไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลัดวงจรได้  

– งดการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งการทำการเกษตร การเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า 

นายคารม กล่าวต่อว่า กรณีอยู่ในบ้านและอาคาร ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้า มุมตึก ระเบียงด้านนอกอาคาร งดใช้เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด อาทิ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม และไม่ควรเปิดโทรทัศน์ขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า เพราะกระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายได้  

กรณีที่ขับรถหรืออยู่ในรถยนต์ ไม่ควรจอดใต้ต้นไม้ใหญ่หรือป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูง ไม่ควรออกมานอกตัวรถ ให้อยู่ภายในห้องโดยสารเท่านั้น เนื่องจากโครงสร้างรถยนต์ไม่เป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า จึงช่วยป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า  

lightning over the city

กรณีไม่สามารถหลบในบริเวณที่ปลอดภัย ให้นั่งยองๆ แขนแนบติดกับเข่า ก้มศีรษะ เท้าชิดกัน และเขย่งปลายเท้าให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นน้อยที่สุด จะช่วยลดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้น นายคารม กล่าว 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยได้ที่ Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย X @DDPMNews Line @1784DDPM สามารถแจ้งและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงนะคะ