
สายรักสวยรักงาม ต้องระวังให้ดีนะคะ!
วานนี้(12 พ.ค.68) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “หมอหมู วีระศักดิ์” อธิบายเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงสายรักสวยรักงาม แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ทำลงไปอาจส่งผลร้ายแรงตามมาได้ โดยหมอหมูได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

“อันตรายจากการฟอกสีผม ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ผิดวิธี
การฟอกผมด้วย ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) แม้จะเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการทำให้ผมสว่างขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงและอันตรายหลายประการหากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้บ่อยเกินไป
อันตรายจากการฟอกผมด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
1. ทำลายเส้นผม
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มีฤทธิ์ออกซิไดซ์แรง จะทำลายเม็ดสีในเส้นผม (melanin) ทำให้ผมเสียโครงสร้าง ผมแห้ง กระด้าง ขาดง่าย และแตกปลาย
2. ระคายเคืองหนังศีรษะ
หากใช้ในปริมาณมาก หรือฟอกชิดโคนผมเกินไป อาจทำให้หนังศีรษะแสบ ร้อน แดง หรือเกิดแผลพุพองได้โดยเฉพาะเมื่อใช้เปอร์เซ็นต์สูง (9% หรือ 12%)
3. เกิดอาการแพ้
บางคนอาจแพ้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำให้มีอาการผื่น คัน บวม แสบ หรือมีตุ่มน้ำใส หากแพ้รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการแพ้เฉียบพลัน (anaphylaxis) ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
4. ระคายเคืองทางเดินหายใจและตา
กลิ่นของสารเคมีอาจทำให้เวียนหัว แสบตา แสบจมูก หรือหายใจลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่อับ
5. อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
การฟอกผมบ่อย ๆ โดยไม่ได้พักผมหรือไม่ดูแลฟื้นฟู อาจทำให้ผมบางลง หรือรากผมอ่อนแอจนหลุดร่วงง่ายขึ้น


ข้อควรระวัง
1. ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในความเข้มข้นที่เหมาะสม (3%–6% สำหรับผมทั่วไป)
2. ทดสอบการแพ้ก่อน (patch test) ทุกครั้ง
3. หลีกเลี่ยงการฟอกชิดโคนผมหรือทิ้งไว้นานเกินคำแนะนำ
4. ควรทำโดยช่างที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์
5. บำรุงผมหลังการฟอกทุกครั้ง เช่น ใช้ทรีตเมนต์ มาสก์ หรือเคราติน
ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้งด้วยนะครับ”
หากใครเป็นสายรักสวยรักงามต้องระวังให้มากนะคะ อย่างเช่นการทำผม ทำสี กัดสี ที่ต้องใช้สารเคมีมากๆเพื่อซึมเข้าสู่ร่างกาย อันนี้ยิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องของการดูแล ซึ่งถ้าเราเลือกไม่ทำได้ก็จะเป็นผลดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์
https://www.facebook.com/share/p/16XvYsPiEG
อ้างอิงข้อมูลจาก:
1. Goldstein, A. O., & Goldstein, B. G. (2023). Hair dyes and hair products: Epidemiology and health risks. UpToDate.
2. American Contact Dermatitis Society. (2020). “Hair dye and bleach reactions.” Dermatitis, 31(6), e72–e73.
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์