
ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจ” ที่ไม่ว่าจะในต่างประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาสงครามการค้า ตั้งแต่บิ๊กอำนาจ “สหรัฐฯ” ประกาศปรับการขึ้นภาษี ซ้ำร้ายเกิดความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เหล่านี้ล้วนกำลังส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจไทย” ที่เชื่อมโยงถึง ”ภาคธุรกิจ“ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่ง 1 ในธุรกิจที่ถือเป็นฟันเฟืองหลักต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่าง ”ภาคการเงิน“ โดย ”ธนาคาร” ที่ต้องบริหารจัดการการเงินของลูกค้าทั้งรายย่อย และธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

เรื่องนี้นายแบงก์ใหญ่อย่าง “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวยอมรับเช่นกันว่า “เศรษฐกิจ” ขณะนี้มีความผันผวน และถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการทำธุรกิจธนาคาร โดยเฉพาะการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ดังนั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อเนื่อง
แต่ในที่สุดแล้วก็เชื่อว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะกับจีน จะบรรลุข้อตกลงกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย
นอกจากนี้ ภายใต้ความผันผวนนี้ก็มี “โอกาส” เห็นได้จากการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ในปี 2568 ที่ยังคงเติบโตได้ในอัตราที่ดีจากการเร่งส่งออกในช่วงที่ผ่านมา
“เมื่อสัญญาณต่างๆ ชัดเจน แนวโน้มการลงทุนจะมีมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศที่สงบ และมีเสถียรภาพเพียงพอจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ดี เศรษฐกิจไทยก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ เชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าการลงทุนต่อไปได้ เช่น โครงการลงทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ก็จะดึงการลงทุนต่างๆ ตามมา ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามได้“ชาติศิริกล่าว

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจธนาคารกรุงเทพ “ชาติศิริ” กล่าวอีกว่ายังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3-4% เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จะสามารถเติบโตได้ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเติบโตจากธุรกิจลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking) ถือเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความไม่แน่นอนสูงก็ตาม
สะท้อนจาก “ธนาคารกรุงเทพ” ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน โดยนับตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ มีสำนักงานหรือธุรกิจอยู่ใน 13 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก จากการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแรง โดยจะผลักดันธนาคารให้ก้าวขึ้นสู่ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค”

“ชาติศิริ” สะท้อนถึงการเข้าซื้อกิจการ ธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค (ธนาคารเพอร์มาตา) ในปี 2563 ขณะนี้ได้ควบรวมธนาคารกรุงเทพ 3 สาขา ได้แก่ สาขาจาการ์ตา สาขาสุรายาบา และสาขาเมดาน เข้ากับธนาคารเพอร์มาตา เพื่อผสานจุดแข็งของทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน
อีกทั้งยังเป็นช่องทางการจับคู่ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพภายใต้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างครบวงจร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารเพอร์มาตา เติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย

สาเหตุที่ “อิโดนีเซีย” เป็นประเทศน่าสนใจ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 การลงทุนของไทยในอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วงปี 2560-2565 นักลงทุนไทยมีการลงทุนรวม 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกว่า 1,400 โครงการทั่วประเทศอินโดนีเซีย
โดยอินโดนีเซียนับเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 10.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยเป็นจุดหมายส่งออกใหญ่อันดับ 4 ของอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าส่งออกถึง 7.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบของอินโดนีเซียในปีนี้ ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ธนาคารกรุงเทพจึงได้สนับสนุนธนาคารเพอร์มาตาจัดตั้งหน่วยงานบริการที่ชื่อว่าฝ่ายพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Development and Advisory Directorate) เพื่อเป็นศูนย์การรองรับทั้งลูกค้าในเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพ ในกลุ่มอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการไปลงทุนประเทศอื่นในภูมิภาค โดยช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
หน่วยงานบริการนี้เป็นการประสานจุดแข็งด้านเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพในระดับภูมิภาคเข้ากับความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นของธนาคารเพอร์มาตา เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียน (Connecting ASEAN) ทั้งทางการเงินที่นักลงทุนให้ความไว้วางใจ ทั้งการลงทุนในกลุ่มโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับหลัก ESG ตามการผลักดันของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้นำด้านการเงินสีเขียวพร้อมที่จะสนับสนุนทุกการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตา ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ตราสัญลักษณ์บัวหลวง เพื่อสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวในมาตรฐานการบริการ ภายใต้แนวคิด “One Family One Team” ของธนาคารกรุงเทพ โดย ณ สิ้นปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปี 2566 และธนาคารเพอร์มาตามีสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 12% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารกรุงเทพ
โดยตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการในปี 2563 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25% (ข้อมูล ณ ธ.ค.67) ส่งผลให้ปัจจุบันธนาคารเพอร์มาตาเป็น 1 ใน 10 ของธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย มีเครือข่ายสาขาให้บริการ 240 สาขา กระจายอยู่ใน 82 เมืองสำคัญทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้ากว่า 6.2 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.68)