
วันนี้ (14 ก.ค.68) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff
ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล (Long haul) ได้ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
“นอกจากนี้ กกร.ไม่เห็นด้วยกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 2.3% ดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม”นายผยงกล่าว
ขณะที่การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเร่งนำเข้าก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณแผ่วลงและมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง
นายผยง กล่าวด้วยว่า กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมาอยู่ในช่วง 32.50 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน ทำให้ธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทไม่สอดคล้องกับภาวะเศษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมาก รวมทั้งภาวะเงินตึงตัว สินเชื่อไม่เติบโต และทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะลดลงในระยะข้างหน้า
“จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แยกแยะและลดผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่กระทบค่าเงินบาท เช่น การซื้อขายทองคำ การเกินดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) จาก Error& Omission ที่สูงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น” นายผยงกล่าว
ขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกสินค้าในปัจจุบันที่แม้จะมีการขยายตัวสูง แต่มาจากการนำเข้าที่สูงเช่นกัน สะท้อนจากการผลิตและการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับต่อเนื่องนับตั้งแต่โควิด ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาการสวมสิทธิ์เพื่อการส่งออกสินค้า (transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำที่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและควบคุม
และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนการสร้างซัพพลายเชนในประเทศ การเร่งการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิ์ต้องอาศัยความร่วมมือด้านการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากภาครัฐ เอกชนไทย ยังรวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาอย่างถูกต้องและสนับสนุนธุรกิจในประเทศ เพื่อยกระดับในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
ดังนั้น กกร. จึงมีแนวทางที่จะขอเข้าพบ ธปท. สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางในการมองเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมมือกับภาครัฐ
เพื่อชี้เป้าอุตสาหกรรมและจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด ในการส่งเสริมการปรับความสามารถในการผลิตของไทย (competitiveness) รวมไปถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนจากต่างชาติที่ ธปท. ร่วมกับ สภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ และ กกร. ร่วมกันศึกษา
ทั้งนี้ ประเมินเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่น่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 9 ก.ค.68 ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง นอกจากนี้ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง อาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก