ส.ต.ต.ควบบิ๊กไบค์ชน “หมอกระต่าย” คอตกนอนเรือนจำ-ศาลอุทธรณ์ สั่งเพิ่มโทษ

ศาลอุทธรณ์ สั่งเเก้เพิ่มโทษ คุก 10 ปี 2 เดือน ส.ต.ต.ควบบิ๊กไบค์ชน “หมอกระต่าย” ดับ รับสารภาพเหลือ 5 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา

จากกรณีที่ หมอกระต่าย หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตหลังจากถูก ส.ต.ต. ซิ่งบิ๊กไบค์ชนขณะข้าม ทางม้าลาย บริเวณถนนพญาไท หน้า รพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วันนี้ (16 ม.ค.67) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอาญา บิดามารดาหมอกระต่าย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.นรวิชญ์ ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) เป็นจำเลย กรณีที่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เวลากลางวัน ส.ต.ต.นรวิชญ์  ขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้า รพ.สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท แขวง-เขตราชเทวี กรุงเทพฯซึ่งเป็นเขตชุมชุนด้วยความเร็ว 108-128 กม. ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ 80 กม.ต่อชั่วโมง จน พญ.วราลัคน์ ถึงแก่ความตาย

คดีนี้ศาลชั้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 พิพากษาว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ จำเลย กระทำผิดตามฟ้องคงจำคุกรวม 1 ปี 15 วัน ไม่รอลงอาญา โดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

ต่อมาโจทก์เเละโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลกำหนดโทษหนักขึ้น จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ โดยพิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่นจำคุก 2 เดือน ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น คงจำคุก 1 เดือน ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงจำคุก 5 ปี เมื่อรวมกับโทษปรับในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 5 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่สังคม เนื่องจากพฤติการณ์ร้ายแรง เป็นตำรวจแต่ไม่เคารพกฎหมาย

ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ 3 เเสนบาทขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาพิจารณาคำร้องเเล้วเห็นควรส่งศาลฎีกาพิจารณาประกัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวจำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯระหว่างรอคำสั่งจากศาลฎีกา ซึ่งปกติเเล้วจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน