ผู้ว่าฯ กทม. ยอมถอย ลดกระแสต้านฮุบหอศิลป์

จากกระแสข่าว กทม.เตรียมดึง หอศิลป์กรุงเทพฯ มาบริหารจัดการเอง

ผู้ว่าฯกทม. ถอยจริงหรือเปล่า ?

จากกระแสข่าว กทม.เตรียมดึง หอศิลป์กรุงเทพฯ มาบริหารจัดการเอง โดยหากไม่ยอมให้ กทม.เข้าบริหารจัดการ อาจจะระงับงบอุดหนุน ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดกทม.ที่จะเข้ามาบริหารหอศิลป์ กรุงเทพฯ นั้น เป็นเรื่องจริง โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)ทักท้วงในสภาฯ ว่า ที่ผ่านมามูลนิธิบริหารจัดการผิดวัตถุประสงค์ของการให้บริการประชาชน ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ต้องสอบถามจากทางสภาฯ อีกทีหนึ่ง และจำเป็นต้องศึกษาระเบียบว่าขัดต่อปฏิญญาฯ ที่เคยร่วมลงนามไว้หรือไม่ แต่ยืนยันว่า จะไม่ทำเป็นศูนย์การค้าอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะใครคิดทำ ต้องติดคุก

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
เมื่อถามว่า กทม.จะต้องศึกษาแนวคิดก่อนหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาอะไรแล้ว เพราะหากไม่ให้ กทม.เข้าไปดูแล อนาคตสภาฯ อาจจะไม่ให้งบประมาณอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาต้องให้งบประมาณทุกปี
ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน
“ผมไปดูบ่อย เห็นนักเรียนไปกวดวิชา ติวกับพื้น ความจริงผมไม่รู้เรื่อง ไปเรียกสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ให้ไปซื้อโต๊ะเก้าอี้มาเพิ่ม ชั้นละ 10 ชุด แต่สำนักวัฒนธรรมฯ บอกว่า ทำไมได้ เพราะมูลนิธิหอศิลป์ฯ ดูแลอยู่ ผมไม่รู้ว่าเขาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เพราะต้องสนับสนุน ขอให้เชื่อว่าผมทำให้ดีและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เดี๋ยวผมก็ไปแล้ว แค่ต้องการแก้ระบบที่เรื้อรัง ทำให้ดีขึ้น” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวในที่สุด . หลังจากการให้สัมภาษณ์ให้ ผู้ว่าฯ กทม. ถึงแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างมากมาย จากคนในแวดวงศิลปะแขนงต่าง ๆ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า "มันจะถูกเขมือบไปเรื่อยๆ –แปลกใจ คณะกรรมการมูลนิธิ หอศิลป์ กทม. และคณะผู้บริหารหอศิลป์ กทม.ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงไม่ออกมาแสดงหลักการที่จะ "ปกป้องหอศิลป์ กทม." ที่ตนเองดูแลอยู่ ทำไมไม่ออกมาแถลง และให้ข้อมูลต่างๆแก่สาธารณชน เพื่อให้ผู้คนในแวดวงศิลปะได้รับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีอะไรที่พูดไม่ออก หรือนั่งทับอะไรไว้หรือเปล่า สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริงๆ คืออะไร อย่างไร และทำไม จะได้รวมพลังร่วมกันต่อสู้ในความถูกต้อง
ภาพจากอีจัน


ถ้าการเมืองไม่เปลี่ยนไปในทางประชาธิปไตย ผู้ว่า กทม.และ "สมาชิกสภา กทม.ยังเป็นอยู่ในชุดเดิมที่ถูกเผด็จการ คสช.เข้าครอบงำ ( ผ่านตัว ผู้ว่า ม.44 ) ก็หวังยากที่จะให้ "หอศิลป กทม." กลับมาเป็นอิสระในแบบเดิม
ทำไมคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ กทม.และคณะผู้บริหารหอศิลป์ กทม.จึงไม่ออกมาแถลงหลักการ และแสดง "จุดยืน"
หรือนี่จะเป็นเรื่องชวนอ้วกอีกเรื่องหนึ่งในยุค "ขอเวลาอีกไม่นาน" และมันจะถูกเขมือบไปเรื่อยๆ เริ่มต้นตั้งแต่บรรดากวีภิวัฒน์ นักเขียนนกหวีด และศิลปิน "ยึดกรุงเทพฯ" ที่ไม่เคยแม้แต่จะออกมา "สำนึกพลาด" เพื่อสร้างพลังเอกภาพในแวดวง

ภาพจากอีจัน
นอกจากนี้ยังมีศิลปินร่วมสมัย เช่น สินธุ์ ยอดบางเตย โพสต์ว่า " หอศิลป์ กทม.ต้องไม่ตกไปอยู่ในการบริหารของผู้ว่าฯลากตั้ง" วสันต์ สิทธิเขตต์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในนามของ เครือข่ายศิลปิน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าที่ผ่านมา (15 พ.ค.61)เพื่อหยุดแนวคิดผู้ว่าฯยึดหอศิลป์และเรียกร้องให้กทม.ให้เงินสนับสนุนตลอดไปตามปฏิญญา2548
ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ยังมีการ ตั้งแคมเปญรณรงค์ร่วมลงชื่อผ่านเวปไซด์ change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 15,000 คน
ภาพจากอีจัน
ล่าสุด เฟซบุ๊ค ผู้ว่าอัศวิน ได้มีความเคลื่อนไหว ในท่าทีที่ยอมถอยแล้ว โดยทิ้งท้ายข้อความว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าว ทั้งนี้ในเฟสบุ๊ค ผู้ว่าฯอัศวิน ยังได้เล่าถึงที่มาที่ไป และ ไอเดียที่เกิดขึ้น ระบุว่า “….ผมคงต้องตอบว่า กทม. ไม่เคยคิด และไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเรา เพียงแต่เราต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของหอศิลป์ฯ ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ เราต้องการนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ หนึ่งในแนวทางที่อยากจะปรับปรุงก็คือ การนำพื้นที่เหล่านั้นมาปรับเป็นให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนได้เข้ามาใช้ สร้างสรรค์งานศิลป์ ทำงาน พบปะ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือที่เรียกกันว่า co-working space ในส่วนนิทรรศการก็ยังจะต้องใช้เพื่อแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเดิม แต่การที่กทม.จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น อาจติดด้วยระเบียบและกฎหมายการมอบกิจการให้มูลนิธิ กทม.จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและดึงดูดให้ประชาชนสนใจงานศิลป์มากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนานั้นอาจมีการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ มาช่วยพัฒนา ผมเชื่อมั่นว่า ศิลปะเป็นเรื่องของอิสระทางความคิดและจินตนาการ ศิลปะเป็นสิ่งจรรโลงใจหาใช่เพื่อวัตถุประสงค์ใด และ สถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งนี้จะต้องยังคงอยู่เพื่อประชาชนทุกคนครับ สุดท้ายนี้ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าวครับ