ล่า ฉลามวาฬ หรือ แค่ติดอวนลาก?

ล่าฉลามวาฬท้องแก่? ลูกไหลออกจากท้องตายทั้งแม่ทั้งลูก?

ล่าฉลามวาฬท้องแก่? ลูกไหลออกจากท้องตายทั้งแม่ทั้งลูก?
เมื่อวานนี้ (8พ.ค.61) เฟซบุ๊คจากกลุ่ม จิตอาสา Go-Eco Phuket ได้โพสต์ ภาพฉลามวาฬที่กำลังถูกเรือประมงลากอวนลำหนึ่งจับและใช้เครนยก โดยระบุว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงบ่าย3ของวันที่ 8 พ.ค.61
โดยภาพถูกบันทึกและเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค DusadeeChuaychian ขณะที่เรือไดร์ฟวิ่งพากลุ่มนักดำน้ำแล่นผ่านบริเวณเส้นทางจากเกาะพีพี กลับมายังภูเก็ต เมื่อมาถึงกลางทะเล ระหว่างเกาะราชากับเกาะเฮ ได้พบเห็นเรือประมงลำหนึ่ง ข้างเรือระบุ ชื่อ “แสงสมุทร 3” กำลัง บรรทุกฉลามวาฬขนาดใหญ่อยู่บนเรือ ระหว่างที่วิ่งเข้าไปใกล้ นักดำน้ำบนเรือจึงช่วยตะโกนให้หยุดเรือ ก่อนที่กัปตันเรือไดร์ฟวิ่งจะพยายามขับเรือเข้าใกล้ และตะโกนให้กับตันเรือแสงสมุทร 3 ปล่อยฉลามวาฬ ซึ่งกัปตันเรือแสงสมุทร 3 รับปากว่าจะปล่อย ก่อนพยายามจะขับเรือออกห่าง กัปตันเรือไดร์ฟวิ่งได้ขับตามอีกครั้ง เพื่อขอให้ปล่อย ก่อนที่เรือแสงสมุทร 3 จะหยุดเรือและทำการปล่อยฉลามวาฬตัวดังกล่าวลงทะเลตามคลิป

ภาพจากอีจัน
ซึ่งขณะที่ปล่อยนั้นนักดำน้ำสังเกตุเห็นว่าฉลามวาฬตัวดังกล่าวนอนแน่นิ่ง ไม่มีการตอบสนอง ผิวหนังเริ่มแห้ง อีกทั้งยังพบว่าฉลามวาฬกำลังท้องแก่ใกล้คลอด ขณะที่คนบนเรือพยายามพลิกส่วนหางฉลามวาฬให้ตกลงจากเรือทำให้ส่วนท้องถูกกับขอบเรือ ลูกฉลามวาฬขนาดเล็กที่ยังไม่ครบกำหนดคลอด หลุดออกจากช่องคลอด ก่อนที่จะตกลงไปในน้ำทั้งคู่ ก่อนที่เรือลำดังกล่าวจะขับออกไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสะเทือนใจผู้เห็นเหตุการณ์เป็นอย่างมาก หลังจากภาพสะเทือนจับฉลามวาฬ ได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางเฟสบุ๊คไม่นาน ในโลกโซเซียลต่างเขียนวิพากวิจารณ์เป็นจำนวนมาก โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ฉลามวาฬเป็นสัตว์คุ้มครองและมีประกาศห้ามจับหรือนำขึ้นหรือประมงชัดเจน หลักฐานมีทั้งภาพถ่าย คลิป พยานผู้เห็นเหตุการณ์ เชื่อว่าเพียงพอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเอาผิดเรือประมงได้ และอยากให้เหตุการณ์นี้ช่วยให้ฉลามวาฬตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายที่โดนกระทำ จนกระทังเมื่อคืนที่ผ่านมา (8 พ.ค.61) เวลา 22.00 น.กัปตันพร้อมลูก เรือ “แสงสมุทร 3” ซึ่งเป็นเรือประมงอวนลากที่มีการระบุว่าจับฉลามวาฬได้นั้น ได้นำเรือเข้าเข้ามาเทียบท่าบริเวณท่าเรือแพปลาแสงอรุณใน ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ตามที่ได้แจ้งไว้กับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) หรือ PIPO (ไปโป้)

ทันที่ที่เข้าจอดทางเจ้าหน้าที่ตรวจหน้าท่า ของศูนย์ไปโป้ ได้มารับรายงานตามขั้นตอน ทางศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) ร่วมประมงจังหวัดตรวจสอบ ได้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของเอกสารไต้ก๋งเรือ ลูกเรือ อุปกรณ์ในการจับปลา, ชนิดของปลาที่จับได้ เบื้องต้นทุกอย่างเป็นไปตามที่ขออนุญาต และไม่พบปลาที่ผิดกฎหมาย จากนั้นได้ทำการสอบปากคำลูกเรือทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์ ก่อนที่รวบรวมรายละเอียดทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดใด หากพบกระทำความผิดชัดเจนก็จะ แจ้งความดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากฉลามเป็นสัตว์ห้ามทำการประมง และเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย (ประเภทปลา ลำดับที่ 6) รวมทั้งห้ามนำขึ้นบนเรือด้วย

ภาพจากอีจัน
อีจัน จึงได้ไปสัมภาษณ์ ไต้ก๋งเรือ “แสงสมุทร 3”นายสมสมัย มีจอม อายุ 55 ปี ชาว จ.ยโสธร ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้จับฉลามวาฬ โดยวันที่เกิดเหตุ ได้ลากปลาปกติ เราไม่รู้ปลาอะไรมาติดในอวนเรา พวกเราทำการประมงไปเรื่อยๆ จะไม่รู้เลยว่าจะได้ปลาอะไร มารู้อีกทีก็เมื่อเรากระตุกออกมา ถึงจะรู้ว่ามีปลาชนิดไหนติดบ้าง เมื่อถามว่า เมื่อเห็นปลาฉลามทำไมถึงไม่ปล่อย ไต้ก๋ง ตอบว่า พอเราเห็นปลาฉลามเราก็รีบปล่อยไปเลยครับ ภาพที่เห็นคือพวกเรากำลังดำเนินการปล่อยปลาฉลามอยู่ และที่เห็นว่า เหมือนกำลังดึงฉลามขึ้น ก็เพราะว่า เพื่อให้มันพ้นเรือ เพราะปลาฉลามวาฬ มันหนัก จึงต้องใช้เครื่องช่วย เพราะคนในเรือมีน้อย ยกขึ้นไม่ไหว จึงต้องใช้เครื่องช่วยกันผลักดัน ให้ลงสู่ทะเลได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ไต้ก๋ง ยืนยันว่า เวลาที่ใช้ไม่นานก็สามารถช่วยกันปล่อยฉลามวาฬลงทะเลได้ นายสมสมัย ยังเล่าว่า วันนั้นลูกน้องมีอยู่ 7-8 คน ที่ช่วยกันด้านหัวเรือ และอีกด้านก็ช่วยกันดึงเชือก วิ่งกันวุ่นอย่างที่เห็นในภาพ ซึ่งเรายืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้มีการจับปลาฉลามอย่างที่โลกโซเซียลกล่าวหา

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมถึงไม่ตัดอวนเลย เมื่อเห็นฉลาม ไต้ก๋งเรือ บอกว่า พวกเราในเรือไม่เห็นปลาฉลามอยู่ในอวน เพราะว่าอวนมันถูกคลุมอยู่เราไม่เห็น และมาเห็นอีกทีก็ตอนที่เอาถุงอวนออกจาก ทุกคนถึงเห็น ขึ้นมาบนเรือแล้วถึงจะรู้ว่าเป็นปลาฉลามมาติดกับถุงอวนเราด้วย ประกอบกับถุงอวนสีเขียวมืดๆ ทำให้เราไม่เห็นเลย และไม่เห็นว่ามีปลาตัวใหญ่ติดมาด้วย

นายสมสมัย มีจอม ไต้ก๋งเรือ “แสงสมุทร 3” กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ยืนยัน ไม่ได้ตั้งใจเพราะ เรือเราก็ทำประมงของเราปกติมันเป็นอุบัติเหตุของปลาเองเพราะเรือของเราลากอยู่กลางทะเลกว้างใหญ่เราไม่รู้ปลาอะไรจะเข้ามาอยู่ในถุงอวนเราเวลาเรากู้ขึ้นมา เอามาไว้บนเรือนั่นแหล่ะถึงจะรู้ว่าปลาชนิดไหนบ้างที่ติดมา

ทั้งนี้ นายสมสมัย ยังยืนยันว่า ได้ช่วยฉลามวาฬตัวนี้ได้ทัน เพราะทุกคนบนเรือพยายามช่วยกัน และก็รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยมันกลับสู่ทะเลตามเดิม ส่วนที่โลกโซเชียลโจมตีถล่มพวกตนเองเสียๆ หายๆ อยากจะบอกว่า พวกเราก็ทำดีที่สุดแล้วไม่ได้ตั้งใจที่จะไปจับเขา เราตั้งใจจับปลาชนิดอื่นครับ

ภาพจากอีจัน
ล่าสุด วันนี้ (19 พ.ค.61) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่ท่าเทียบเรือประมงแพแสงอรุณภูเก็ตด้วยตนเอง เบื้องต้นจากการตรวจสอบและรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ พบว่า 1.เรือประมงดังกล่าวทำการประมงประเภทอวนลาก ชื่อเรือแสงสมุทร 3 ทะเบียนเรือ 228304242 เลขที่ใบอนุญาตทำการประมง 618301010283 เจ้าของเรือคือนายวัชรพล วรรณะ มีนายสมสมัย มีจอม เป็นผู้ควบคุมเรือ 2.เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพได้ตรวจเรือที่แจ้งเข้าท่าเวลา 22.00 น ของวันที่ 18 พ.ค. พบหลักฐานจากการชี้แจงของผู้ควบคุมเรือ ยอมรับว่าภาพทางสื่อออนไลน์เป็นเรือดังกล่าวจริง

โดยร่วมกับเรือประมงแสงสมุทร 2 ที่มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือ ทำการประมงลากคู่จับสัตว์น้ำในทะเลอันดามัน เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจึงรวบหลักฐานแจ้งลงบันทึกประจำวัน และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสืบสวน สภ.เมืองภูเก็ต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง.พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ฉลามวาฬ เพื่อดำเนินคดีกับนายสมสมัย มีจอม และนายรัตนา พรหมงาม และผู้กระทำผิด จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

3.ได้สั่งดำเนินการกักเรือ ยึดสัตว์น้ำและเครื่องมือ โดยกรมประมงประสานไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อดำเนินการล็อกเรือ ตามคำสั่ง คสช.22/2560 ข้อ 22 ที่ระบุว่ากรณีมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเรือประมงลำใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้พนักเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งพบการกระทำความผิดสั่งกักเรือไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับจากออกคำสั่งกักเรือ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ขณะเดียวกันหากเรือลำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้ศาลสั่งริบเรือทันที

สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมงแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกัน เรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ จากการสอบถามเบื้องต้นว่า ออกเรือมาแล้วประมาณ 7 วัน มีลูกเรือ 15 คน และนำปลาขึ้นเรือมาประมาณ 10 กว่านาที โดยยืนยันว่า ไม่ตาย ซึ่งอ้างว่าไม่เห็นตอนอยู่ในน้ำ ว่าเป็นปลาอะไร หากรู้ก็จะไม่ยกขึ้นมา

ภาพจากอีจัน
ภาพจากอีจัน