หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล ละสังขารอย่างสงบ ศิษย์น้อมกราบถวายความอาลัย

หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตรสุดเขตแดนสยาม และผู้ริเริ่มสร้างวัดอนาลโย (ดอยบุษราคัม) ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 89 ปี

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพรหมวชิรคุณ หรือ หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม จ.เชียงราย ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต) ได้ละสังขารอย่างสงบที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เวลา 17.24 น. สิริอายุ 89 ปี 59 พรรษา 

หลวงปู่ไพบูลย์ ท่านมีนามเดิมว่า “ไพบูลย์ สิทธิ” เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2477 เป็นบุตรของคหบดีชาวอำเภอเกาะคา โยมบิดา-มารดาชื่อ นายกองแก้ว และนางคำสิทธิ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง  และด้วยความที่โยมพ่อของท่านมีอาชีพเป็นแพทย์แผนโบราณ ทำให้เด็กชายไพบูลย์เกิดความเคยชินและคุ้นเคยกับภาพชีวิตที่วนเวียนอยู่กับ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครสามารถห้ามความตายหรือหนีพ้นความตายได้ 

ท่านคิดอยู่แต่จะหาทางออก หาวิธีให้หลุดพ้นจากวงเวียนชีวิตแล้ว ท่านยังมีความสงสารไม่อยากเห็นความเจ็บ ไม่อยากเห็นความตาย ไม่อยากให้ใครเจ็บและไม่อยากให้ใครตาย เมื่อท่านเห็นคนเจ็บมาให้พ่อของท่านรักษา ท่านก็จะรีบเข้าไปช่วย บางครั้งเมื่อท่านเห็นว่ามีชาวบ้านเอากุ้งหอยปูปลาใส่ข้องใส่กระบุงมาวางขาย ท่านก็จะรบเร้าแม่ของท่านให้ซื้อไปปล่อย ด้วยอุปนิสัยนี้พ่อและแม่จึงเริ่มจับสังเกตุท่านพร้อมกับนำเรื่องนี้ไปปรึกษาครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ ซึ่งหลายท่านพูดเหมือนกันว่า “ลูกชายคนนี้ต้องบวช เพราะวาสนาบารมีของเขาสร้างสมอบรมมาทางนี้” 

จากนั้นเส้นทางชีวิตของท่านได้ดำเนินไปตามแนวทางของพ่อแม่่ คือ เรียน ทำงาน และบวชเมื่ออายุถึงเกณฑ์ ขณะเดียวกันพ่อแม่ของท่านคิดว่าหลังจากการบวชครั้งนี้เมื่อสึกออกมาลูกชายจะได้มีครอบครัว มีบุตรไว้สืบสกุล แต่สำหรับท่านแล้วการบวชครั้งนี้เป็นการชิมลางเท่านั้้น  

จนเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2507 อายุครบ 30 ปีบริบูรณ์จึงได้ปิดฉากชีวิตในทางโลกด้วยการอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดป่าสำราญนิวาส ตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยมีพระครูธรรมวิวัฒน์ วัดเชตวัน จังหวัดลำปางเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สุมังคโล” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้มีมงคลดีพร้อม” และในปี พ.ศ. 2513 หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล ได้มีโอกาสพบกับ พระอาจารย์ทอง ที่เดินทางมาจากวัดอโศการาม จึงได้ชักชวน์กันออกเดินธุดงค์หาความวิเวก จนเดินผ่านมาถึง จ.พะเยา ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่วัดร้างและจำพรรษา ณ วัดร้างแห่งนี้ ชาวบ้านแถบนั้นได้มาทำบุญฟังเทศน์ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พากันอาราธนาให้ท่านอยู่ ช่วยบูรณะวัดร้างขึ้นใหม่ อยู่ช่วยปฏิสังขรณ์วัดร้าง จากสภาพวัดร้าง จนมีสภาพดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้ยื่นหนังสือขอสร้างวัดไปยังกรมการศาสนา ได้รับอนุญาต ให้สร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีนาม “วัดรัตนวนาราม” 

ต่อมาได้มี ชาวบ้านจากบ้านสันป่าม่วง บ้านสันบัวบก บ้านสันป่าบง เข้ามาอาราธนาท่านไปดูสถานที่สำคัญ บนดอยสูง ฝั่งกว๊านพะเยาด้านตะวันตก เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน และใช้ชื่อว่าสำนักสงฆ์อนาลโย สำนักสงฆ์เล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากการใช้เพิงผาเป็นที่ปฏิบัติธรรม ค่อยๆ ปรับปรุงโดยเพิ่มยกแค่ให้สูงพอกันสัตว์เลื้อยคลาน ต่อมาก็เป็นกระต๊อบ มีฝา มีหลังคา จนในที่สุดได้พัฒนากลายมาเป็น “วัดอนาลโยทิพยาราม” ในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ หลวงปู่ไพบูลย์ เป็นพระเถระที่มีลูกศิษย์เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านจำนวนมาก เป็นพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านมีความเคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย ยให้การอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรม เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ตามหลักเบญจศีล และเบญจธรรม