เปิดขั้นตอนเลือกนายกฯ คนใหม่ หาก “ประยุทธ์” พ้นตำแหน่ง ปม 8 ปี

ขั้นตอนสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ หาก “พล.อ.ประยุทธ์” พ้นตำแหน่ง ปม 8 ปี

วันนี้ (30 ก.ย.65) เป็นวันชี้ชะตาปมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทางบวก พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะกลับมาดำรงตำแหน่ง นายกฯ ต่อไป แต่หากผลออกมาในทางลบ ก็จะนำไปสู่กระบวนการสรรหานายกคนใหม่

ซึ่งการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ เว็บไซต์ ilaw ได้อธิบายขั้นตอนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ไว้ดังนี้

หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า วาระการตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อประยุทธ์ ครบกำหนด 8 ปี ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะส่งผลทางกฎหมายและทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 170 วรรคสอง เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะที่ต้องหลุดตำแหน่งด้วย ตามมาตรา 167 (1) แต่ ครม. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และมีอำนาจเต็ม จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

กรณีนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหลุดจากตำแหน่งด้วยพร้อมกับรัฐมนตรีทุกคน พล.อ.ประวิตร จะไม่ได้รักษาการฯ นายกรัฐมนตรีต่อไปอีก แต่จะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็รักษาการในตำแหน่งตัวเอง ระหว่างที่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

หลังจากนั้น กระบวนการต่อไปที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาเลือกนายกฯ คนใหม่ ตามมาตรา 272 ซึ่งกำหนดให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เห็นชอบเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยกระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่สามารถสรุปได้ดังนี้

ให้เลือกนายกฯ คนใหม่จากผู้มีชื่ออยู่บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตอนการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ซึ่ง ณ วันที่ 18 กันยายน 2565 บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ได้แก่

-นายชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย

-นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย

-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์

ในทางกฎหมายมีอีกสองคนที่มีคุณสมบัติ คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่สุดารัตน์ ออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยและเคยประกาศหลังการเลือกตั้งปี 2562 ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่ง เช่นเดียวกับ ชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ

การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 48 คน การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องกระทำโดยเปิดเผย ลงมติด้วยการขานชื่อ และต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 364 คน จากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 727 คน (ส.ส. 478 คน และ ส.ว. 249 คน)

แต่หากไม่สามารถเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตในบัญชีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ได้ ก็จะเปิดทางไปสู่ช่อง “นายกฯ คนนอก” โดยสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 364 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 485 คน

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ และดำเนินการตามขั้นตอนปกติก่อนหน้า

ทั้งนี้ นายกฯ คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากบัญชีของพรรคการเมืองหรือไม่ก็จะดำรงตำแหน่งได้ถึงครบกำหนดอายุสภาผู้แทนราษฎร หรือถึง 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น

ที่มา : https://ilaw.or.th/node/6261

คลิปแนะนำอีจัน
ใจหาย… พระธาตุวัดศรีสุพรรณถล่ม!