ประวัติวิวัฒนาการชุดนักเรียนของไทย

ชุดนักเรียนไทยมีมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 จวบจนวันนี้เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมและกาลเวลา

ในยุคก่อน “ชุดนักเรียน” เป็นสิ่งที่ผู้คนในวัยหาความรู้ต่างใฝ่ฝันที่จะได้สวมใส่ชุดนักเรียน

แต่วันนี้ยามที่กาลเวลาผันผ่าน วัน เดือน ปี ล่วงเลยมาจวบจน 6 แผ่นดิน

“ชุดนักเรียน” กลายเป็นเรื่องถกเถียงว่า จำเป็นต้องสวมใส่หรือไม่?

ด้วยเหตุผลที่ว่า ชุดนักเรียน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เป็นการจำกัดเรื่องการแต่งกายไปโรงเรียน และอีกหลากหลายเหตุผล

อีจัน จะพาย้อนอ่านเกี่ยวกับวิวัฒนาการ “ชุดนักเรียน” เขียนโดย พงษ์พรรณ บุญเลิศ เป็นบทความที่น่าสนใจโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ

การศึกษาในรูปแบบโรงเรียนของไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งความเป็นมาของการแต่งเครื่องแบบนักเรียนเริ่มมีขึ้นเมื่อทรงตั้งโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวังขึ้นและหลังจากนั้นให้มีโรงเรียนสำหรับสามัญชน ในปีพุทธศักราช 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนากระทรวงธรรมการ โดยปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 ออกมาใช้บังคับและด้วยใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน  จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 และให้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แทน โดยกำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ส่งเสริมความมีระเบียบวินัยแก่นักเรียน รวมทั้งยังเป็นการคุ้มครอง มิให้บุคคลอื่นใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง

ด้วยที่เครื่องแบบนักเรียนไทยมีวิวัฒนาการนับแต่แรกเริ่มจวบปัจจุบัน บอกเล่าประวัติศาสตร์ชวนศึกษา ดร.อาทร จันทวิมล อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษาหอประวัติศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการให้ความรู้เครื่องแบบนักเรียนไทยเล่าถึงความหมาย ที่มาของเสื้อปกกะลาสี  เครื่องแบบนักเรียนหญิงมัธยมต้นว่า ยุคแรกของการศึกษาไทย การเรียนการสอนมีขึ้นที่วัดโดยพระท่านจะเป็นผู้สอนโดยวัดนั้นเป็นที่เล่าเรียนเรื่อยมา

การศึกษาในรูปแบบโรงเรียนของสยามประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่อย่างไรแล้วใน รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งนั้นได้ติดต่อสัมพันธไมตรี ค้าขายกับชาติตะวันตกซึ่งก็มีสถานศึกษา ในรูปแบบโรงเรียนขึ้นคือโรงเรียนสามเณร

“เครื่องแบบนักเรียนที่สวมใส่กันนั้นแต่ละยุคสมัยมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ เกาหลีหรือญี่ปุ่น ฯลฯ ต่างมีการแต่งเครื่องแบบ เครื่องแบบนักเรียนไทยก็เช่นกันมีวิวัฒนาการ อย่าง เสื้อปกใหญ่ ปกกะลาสี ผูกด้วยผ้าชายสามเหลี่ยมเครื่องแบบนักเรียนหญิงมัธยมต้นที่พบเห็นคุ้นตานั้น อาจมีคำถามถึงประวัติที่มา

เบื้องต้นจากการค้นคว้าพบว่า ปี ค.ศ.1846 ได้ปรากฏภาพเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดของอังกฤษ โอรสพระราชินีวิคตอเรียทรงแต่งชุดกะลาสีเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ชุดดังกล่าวต่อมากลายเป็นที่นิยมของเด็ก ๆ ทั่วโลก จากนั้นมีการนำชุดกะลาสีไปเป็นแบบฟอร์มของนักเรียนในสหรัฐอเมริกาและแพร่ขยายต่อไปยังเยอรมนี ญี่ปุ่นและประเทศไทย ฯลฯ”

นอกจากนี้เครื่องแบบนักเรียนไทยในยุคหนึ่งสวมหมวก หมวกที่สวมใส่เข้ามาในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำด้วยวัสดุหลายรูปแบบ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของระเบียบการแต่งกายมีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเป็นแบบแผน โดยยุคที่นักเรียนสวมหมวกเป็นยุคแรก

ชุดนักเรียนที่พบเห็นส่วนใหญ่ โรงเรียนรัฐบาลเสื้อแบบเชิ้ตแขนสั้น กางเกงสีกากี บางโรงเรียนใช้กางเกงสีดำ ขณะที่โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานา ชาติ มีเครื่องแบบที่เหมาะสมของแต่ละโรงเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้แต่ละโรงเรียนพิจารณาและดำเนินตามกฎระเบียบที่กำหนด ซึ่งส่วนหนึ่งนี้ทางหอประวัติกระทรวงศึกษาธิการรวบ รวมนำเสนอวิวัฒนา การของชุดนักเรียนไว้และเตรียมขยายเนื้อหาการจัดแสดงต่อไป

จรูญรัตน์ สุวรรณภูสิทธิ์ อดีตครูสวนกุหลาบวิทยาลัย หัวหน้างานพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสวนกุหลาบ ผู้วิจัยค้นคว้าประวัติโรงเรียนให้ความรู้เล่าถึงพัฒนาการเครื่องแบบนักเรียนเพิ่มอีกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5  นับจากการก่อตั้งจุดประสงค์หลักของโรงเรียนเป็นการฝึกหัดบุคคลเข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็ก การเรียนของนักเรียนสมัยเริ่มตั้งโรงเรียนจึงเป็นแบบทหาร เครื่องแต่งกายจึงใช้แบบทหาร

จากนั้นต่อมากิจการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนฐานะโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดทหารมาเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือนการจัดการเรียนเหมือนสามัญ เครื่องแต่งกายของนักเรียนจึงเปลี่ยนไป ดังเช่น ยุคแรกของเครื่องแบบนักเรียน เสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมถุงเท้ายาวสีขาวพับขอบบน รองเท้าหนังสีดำ

ยุคต่อมาราวสมัยรัชกาลที่ 6 เสื้อราชปะแตนแต่เปลี่ยนจากนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นกางเกงตัดเป็นจีบรูดเลยหัวเข่าลงมาเล็กน้อยคล้ายโจงกระเบน ต่อมาเครื่องแบบนักเรียนมีพัฒนาการกางเกงจากรูปแบบเดิมเป็นกางเกงขาสั้นแคบสีดำ เสื้อคงเดิมและสวมหมวกยาวปีกกลมคาดแถบผ้าสีเหลือง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม 3 ลงมา ส่วนมัธยม 4 ขึ้นไปคาดผ้าสีน้ำเงินและสีเหลือง ตรงกลางหน้าหมวกมีอักษรโลหะคำว่า สก. กลัดอยู่

ยุคต่อมามีเครื่องแบบยุวชนทหาร สำหรับชั้นมัธยม 3 ลงมา ส่วนมัธยม 4 ขึ้นไปแต่งเครื่องแบบยุวชนทหาร จากนั้นต่อมาเครื่องแบบนักเรียนเปลี่ยนเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขาสั้นสีกากี และพัฒนามาเป็นกางเกงขาสั้นสีดำ

“การศึกษาเครื่องแบบนักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนหลวงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานแห่งนี้ สิ่งที่พบคือ ชุดเครื่องแบบมีวิวัฒนาการพัฒนาไปตามยุคสมัย ผันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ดังเช่นยุคหนึ่งเปลี่ยนจากนุ่งโจงกระเบนมาเป็นกางเกง  สวมหมวกพัฒนาการแต่งกายเป็นแบบสากลมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนเสื้อนักเรียน เปลี่ยนมาใช้เสื้อเชิ้ต เริ่มมีการปักเลขประจำตัวนักเรียน ปักกระเป๋าเสื้อ บางโรงเรียนติดเข็มโรงเรียนแทนการปักชื่อโรงเรียน ฯลฯ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เครื่องแต่งกายนักเรียนได้บันทึกและถ่ายทอด ยุคสมัย สภาพสังคมและเศรษฐกิจ”

อีกด้านหนึ่งที่สื่อแสดงผ่านชุดนักเรียนยังแสดงถึงวัฒนธรรมการแต่งกาย ความเป็นระเบียบ ความเป็นแบบแผน ซึ่งที่ผ่านมาในเรื่องดังกล่าวมีกฎระเบียบว่าด้วยการแต่งกายตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ แต่อย่างไรก็ตามโรงเรียนต่าง ๆ สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมได้

เครื่องแบบนักเรียนปัจจุบันมีหลายรูปแบบ สวยงาม แปลกตาเป็นแฟชั่น เป็นอีกมุมมองแสดงถึงพัฒนาการชุดนักเรียนที่เกิดขึ้น อีกทั้งชุดนักเรียนยังมีบทบาทต่อการตัดสินใจเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กจะเห็นว่า โรงเรียนบางแห่งออกแบบยูนิฟอร์มสวยงามชวนสวมใส่ บางโรงเรียนออกแบบเป็นกระโปรงกางเกงเพิ่มความสะดวกในเวลาวิ่งเล่น ทำกิจกรรมในโรงเรียน เป็นต้น

ด้วยรูปแบบชุดที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล เอกชนหรือนานาชาติ  เครื่องแต่งกายยังมีความหมายบอกถึงรูปลักษณ์การจัดการเรียนการสอน บอกเล่าประวัติความเป็นมาของโรงเรียน การบริหารจัดการขององค์กร อาจารย์จรูญรัตน์กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เรื่องของเครื่องแบบอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทว่ามีความสำคัญเป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อเนื่องไป

ทั้งนี้ชุดนักเรียนไม่ได้บ่งบอกความสำคัญเพียงแค่การสวมใส่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่มีความหมายถ่ายทอดยุคสมัยทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ บอกเล่าเรื่องการศึกษา เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้คือความเป็นมาของชุดนักเรียน

แล้วคุณหล่ะ…มองว่าวันนี้ชุดนักเรียนยังมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด

อ้างอิงข้อมูล : https://www.moe.go.th/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99rsq/