เจออีก ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววแม่ เจ้าหน้าที่ ต้องรับดูแลชั่วคราว

ลูกช้างป่าหลงฝูง โผล่อีกเคส ที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน เจ้าหน้าที่เฝ้าดู หวังโขลงช้างจะกลับมารับ แต่ยัง ไร้วี่แววแม่ ตอนนี้ต้องพาตัวมาดูแลไปก่อน เพราะเกรงจะเกิดอันตราย

เจออีกเคส ลูกช้างป่าหลงฝูง ไร้วี่แววโขลงกลับมารับ เจ้าหน้าที่ต้องย้ายไปอนุบาลที่ฐาน เพื่อความปลอดภัยของน้อง

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 ชาวบ้านบ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พบ ลูกช้างป่าหลงฝูง เดินวนเวียนอยู่แนวชายป่าติดกับไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 ตลิ่งชัน ได้เข้าตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า เป็นลูกช้างป่าเพิ่งคลอด เพศผู้ สูง 90 เซนติเมตร วัดรอบอกได้ 100 เซนติเมตร อยู่ในสภาพค่อนข้างอิดโรย เดินโซเซอยู่ริมแนวเขตป่าติดกับไร่มันสำปะหลังห่างจากแหล่งชุมชน ประมาณ 3 กิโลเมตร คาดว่า น่าจะพลัดหลงจากฝูงตั้งแต่คืนวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ขณะโขลงช้างป่าพากันออกมาหากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน และมีการใช้เสียงผลักดันช้างกลับเข้าป่าตลอดทั้งคืน ทำให้โขลงช้างตกใจ ต่างรีบหนีเข้าป่า ลูกช้างตัวนี้ยังไม่แข็งแรงมากพอ จึงน่าจะเดินไม่ทันฝูง จนพลัดหลงกับแม่ช้างดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ย. 66 สัตวแพทย์หญิงพรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา พร้อมด้วยนายบัญชา ชุติมันตานนท์ ปศุสัตว์อำเภอครบุรี ได้นำทีมสัตวแพทย์ เข้าตรวจดูอาการของลูกช้างป่าแรกเกิดเพศผู้ตัวนี้ พบว่า ยังมีสภาพอ่อนแรงจากความเหนื่อยล้า ตามร่างกายมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย และแผลบริเวณสายสะดือยังไม่แห้งดี จึงคาดว่า น่าจะมีอายุประมาณสัปดาห์เศษ ทีมสัตวแพทย์จึงใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าเชื้อแผลที่สะดือกับแผลถลอกตามร่างกายให้ พร้อมกับป้อนนมผงให้ลูกช้างมีแรงกลับมา ซึ่งลูกช้างเริ่มมีอาการดีขึ้น หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำการจำกัดบริเวณลูกช้างให้อยู่ในจุดเดิม หวังที่จะให้แม่ช้างกลับมารับลูกกลับเข้าสู่โขลงอีกครั้ง

โดยได้มีการประกาศขอความร่วมมือชาวบ้านในพื้นที่ ให้งดการเข้าไปหรือใช้เสียงในพื้นที่ที่ลูกช้างอาศัยอยู่ เพื่อรอให้แม่ช้างมารับกลับเข้าโขลงใหญ่จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ต่อมาในวันที่ 10 พ.ย. 66 นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการปฐมพยาบาลลูกช้างตัวดังกล่าวซึ่งมีสภาพอิดโรย จนกลับมามีอาการปกติแข็งแรงดีแล้ว ด้วยการทำแผลบริเวณสะดือที่รกเพิ่งขาดและมีแผลเล็กน้อย พร้อมใส่ยาตามร่องรอยถลอกตามตัว จนแผลเริ่มแห้งแล้ว และได้ชงนมผงสอนให้ลูกช้างกิน จนตอนนี้ลูกช้างสามารถกินนมผง และขับถ่ายได้ตามปกติแล้ว อีกทั้งยังมีอาการร่าเริงซุกซน อยากรู้เหมือนลูกช้างปกติ แต่มีอาการเจ็บที่ขาหลังด้านขวาเล็กน้อย อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่จะยังคงต้องทำการจำกัดบริเวณ ทำคอกให้ลูกช้างป่าให้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ไปก่อน เพื่อหวังให้ตัวแม่กลับมารับลูกช้างกลับเข้าโขลงอีกครั้ง แต่ยังไร่วี่แวว ไม่มีทีท่าว่าแม่ช้างจะมารับ

ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ย. 66) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมทีมสัตวแพทย์และอาสาสมัครในพื้นที่ ได้ช่วยกันต้อนลูกช้างป่า เข้ากรงที่จัดเตรียมไว้ ก่อนทำการเคลื่อนย้ายออกมาจากแนวชายป่าเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี ด้านทิศตะวันออกบ้านตลิ่งชัน เพื่อลำเลียงกับมาดูแลอนุบาลยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ ทบ.08 โดยทางเจ้าหน้าที่ต้องลำเลียงกรงใส่ลูกช้างที่มีเจ้าหน้าสัตวแพทย์ เข้าไปดูแลอยู่ในนั้นด้วย เพื่อคลายความวิตกกังวล ไม่ให้ช้างเกิดอาการเครียดจนเกินไป เดินทางด้วยรถยนต์ออกมาจากแนวชายป่า เพื่อมาขึ้นเรือที่ทางผู้นำชุมชนได้จัดเตรียมไว้ จากนั้นต้องแล่นเรือข้ามเขื่อนมูลบนประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วย้ายกรงขึ้นรถยนต์เดินทางไปยังคอกที่จัดเตรียมไว้ ภายในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ ทล.3 ตลิ่งชัน อีกประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งตลอดขั้นตอนการลำเลียงเป็นไปด้วยดี ช้างมีอาการตกใจและกังวลเล็กน้อยส่งเสียงร้องเป็นระยะๆ แต่อาการก็กลับมาเป็นปกติในเวลาต่อมาไม่นานนัก

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างออกจากแนวเขตป่า เนื่องจากการติดตามสังเกตโขลงช้างที่คาดว่าลูกช้างตัวดังกล่าวเคยอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ตัว ได้เคลื่อนที่ออกจากจุดที่พบลูกช้างไปค่อนข้างไกลแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะหวนกลับมารับลูกช้างกลับเข้าโขลงอีกครั้ง ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบพบร่องรอยของเสือโคร่ง อยู่ห่างจากจุดที่ทำคอกพักพิงชั่วคราวให้ลูกช้างไม่ไกลนัก จึงจำเป็นต้องนำตัวลูกช้างออกมาเพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการตรวจรักษาดูแลลูกช้าง

ส่วนอาการของลูกช้างตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ดี สุขภาพแข็งแรง กินนมได้ดี แต่มีเรื่องที่น่ากังวลก็คืออาการบาดเจ็บที่ขาหลังด้านขวา ที่มีอาการบวมทางสัตวแพทย์ก็ได้ใช้วิธีการใช้ยานวดผ่อนคลายแต่ยังไม่ให้ยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง เพราะช้างอายุยังน้อยอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งในส่วนนี้ต้องรอทำการเอ็กซเรย์ที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาอย่างตรงจุด โดยหลังจากนี้ทางสัตวแพทย์ก็จะให้การรักษาตามอาการอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลูกช้างกลับมาแข็งแรงสมบูรณ์อีกครั้ง และจะได้นำมาพิจารณาการให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไปว่า จะนำช้างกลับเข้าสู่โขลงได้หรือไม่ หรือหากไม่ได้ก็อาจจะต้องนำช้างส่งไปยังปางช้างที่จังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดสุรินทร์ เพื่อหาช้างแม่รับมาดูแลสอนสัญชาติญาณในการดำรงชีวิตให้กับลูกช้างป่าตัวนี้ต่อไป

คลิปอีจันแนะนำ
สำเร็จ! ส่ง ช้างกันยา ถึงบ้านใหม่ ขสป.ภูวัว – เชียงใหม่