หมอธีระวัฒน์ ฉะ ระบบงานโรงพยาบาล ปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้!

หมอธีระวัฒน์ โพสต์ฉะ ระบบงานโรงพยาบาล ปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้ หมอทำงานหนักเป็นเครื่องจักร

ดราม่าระบบงานโรงพยาบาล

หมอ พยาบาล งานหนัก!

ยังคงเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง สำหรับระบบงานในโรงพยาบาล หมอ พยาบาล และบุคลากรท่านอื่นๆ ที่ต้องทำงานหนัก งานเยอะเกินตัวเกินหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หลายคนไม่ไหวตัดสินใจลาออกทั้งที่อุตส่าห์ทุ่มเทเรียนหนัก เพื่อทำงานที่รัก แต่ความเหนื่อยมันสะสม ร่างกายล้า ใจก็ล้าตาม อย่างกรณีล่าสุดของ หมอปุยเมฆ หรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล intern และแพทย์พี่เลี้ยงออร์โธปิดิกส์ ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ทวิตข้อความเล่า 1 ปีการทำงาน เหนื่อย ท้อ บางวันแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ งานหนักเหมือนแรงงานทาส กระทั่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่อยากทนอีกต่อไป จึงยื่นใบลาออก!

ปุยเมฆ แจงเหตุลบทวิต ลาออกจากราชการ กระทบเพื่อนร่วมงาน

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นในมุมมองของตน ถึงเหตุการณ์ดังการณ์เช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ข้อความของ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา และกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2564-2566) ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอยกตัวอย่าง ลูกศิษย์ที่จบไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เขาจบไปไม่กี่ปี ไฟแรง ขยันทำงาน ไม่เคยคิดหาประโยชน์จากคนไข้ โรงพยาบาลนี้เป็นทั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดระดับโรงพยาบาลศูนย์ที่ต้องรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน 8 แห่งในจังหวัด นอกจากนั้นยังรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ในฐานะที่เป็น โรงพยาบาลศูนย์ เฉพาะประชากรที่ต้องดูแลในจังหวัดตนเองก็ประมาณ เกือบแสนคนเข้าไปแล้ว

โรงพยาบาลแห่งนี้มีอายุรแพทย์ คือ แพทย์ที่เชี่ยวชาญรักษาทางยา ไม่ได้ผ่าตัด ที่ดูแลโรคนับสิบระบบตั้งแต่ ไข้หวัด ปวดหัวตัวร้อน ไอ จาม ปอดบวมโรคผิวหนัง เบาหวาน ความดันสูง โรคไต จนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และรับผิดชอบการตรวจพิเศษที่ต้องใช้เครื่องมือ เช่น การส่องกล้องดูกระเพาะ หลอดอาหาร ส่องกล้องดูหลอดลมในปอด ตรวจทางหัวใจและอื่นๆ

น้องเล่าว่า ที่นี่มีอายุรแพทย์ประมาณสิบคน นอกจากที่ต้องดูแลผู้ป่วยนอก OPD (Out-patient Department) ยังต้องตรวจรักษาคนไข้หนักกว่าที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ที่เราเรียกว่า คนไข้ใน IPD (In-patient Department) สำหรับโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลศูนย์ จะมีโรค อาการ ที่รุนแรง หรือซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลระดับอื่นมาก สิ่งนี้หมายความถึง “เวลา” ที่มีให้กับคนไข้กลุ่มนี้ จะมากขึ้นไปด้วย นี่ยังไม่รวมถึงคนไข้อาการหนักซึ่งมีภาวะช็อก ไม่รู้สึกตัว ติดเชื้อรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ที่อยู่ในไอซียู ซึ่งหมอกลุ่มนี้ต้องดูแล (ICU-Intensive Care Unit)

โดยสรุปคือ ต้องดูพร้อมๆ กันทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน รวมทั้งที่อยู่ในไอซียู

ถ้าโชคร้ายขณะนั่งตรวจคนไข้นอก เกิดมีเหตุด่วนถูกตามก็ต้องวิ่งเข้าไปดูคนไข้ในที่อาการแย่ลง คนไข้นอกก็ยิ่งรอนานมากขึ้น เวลาที่ใช้ในการตรวจที่สั้นอยู่แล้วก็ยิ่งสั้นลงไปอีก จะบอกคนไข้ที่รอตรวจที่ OPD ว่าต้องไปปั้มหัวใจช่วยชีวิตคนไข้ในก็ไม่มีเวลา หรือไม่มีใครเห็นใจ ต้องถูกต่อว่า

ในช่วงบ่ายจะมีแพทย์ออกตรวจผู้ป่วยนอกอีกกลุ่มที่มาตรวจเฉพาะเจาะจงโรค หรือที่เรียกว่าคลินิกเฉพาะโรค (Specialty clinic) ซึ่งความจริงก็คือ แพทย์กลุ่มเดิมที่ถนัดเชี่ยวชาญต่างกัน เช่น ชำนาญทางหัวใจหลอดเลือด ระบบประสาท หรือไต อะไรเหล่านี้ ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกตรวจผู้ป่วยทั่วไปช่วงเช้าแล้ว แต่มีทักษะความสามารถเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมก็จะออกตรวจเฉพาะอีกตอนบ่าย และในแต่ละวันจะมีการรับผู้ป่วยใหม่ที่อาการเริ่มหนัก เริ่มซับซ้อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมอีกที่มารับคนไข้ใหม่

ดังนั้น แพทย์ทางอายุรกรรมกลุ่มนี้ต้องทำงานทุกวันไม่เว้นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ แม้ไม่ได้อยู่เวร อย่าลืมว่าโรงพยาบาลเปิด 24 ชั่วโมง ต้องมีแพทย์เวรสำหรับตอนกลางคืน ก็จะเป็นแพทย์กลุ่มเดิมที่ต้องผลัดเปลี่ยนอยู่เวรกันอีก

ที่พูดมาคือ มีแพทย์อายุรกรรม 10 คนนะ ยังไม่พูดถึงช่วงที่แพทย์แต่ละท่านมีภารกิจอื่น ๆ ที่จำเป็นทางราชการ เช่น การทำผลงานทางวิชาการ การไปอบรมเพิ่มเติม การพัฒนาคุณภาพ เป็นต้น

ผลคือ แพทย์ทุกคนของโรงพยาบาลนี้ ต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดตลอด 5 เดือน จึงจะได้พักเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อช่วยกันรองรับและรักษาผู้ป่วยหลากหลายให้มีความปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ แต่แพทย์ก็เป็นคนนะครับ

เหตุการณ์เหล่านี้ผ่านไปวันแล้ววันเล่า รักษาดีคนไข้ยิ่งมากขึ้น ยิ่งหนักขึ้น ราวกับแพทย์เป็นเครื่องจักร แทนที่จะมีคำชม กลับเป็นคำบ่น เพราะการบริการคนไข้ที่มากขึ้นก็จะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่อง รอนาน รักษาช้า ที่เคราะห์ร้ายคือ บางรายต้องพิการ หรือเสียชีวิต ก็จะถูกญาติเพ่งเล็งว่าหมอ หรือโรงพยาบาลผิดพลาดตรงไหน จะได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ตามกระแสข่าว หรือการยุยง หรือความระแวงที่ได้ยินกันมา

ที่สำคัญ จำนวนแพทย์ที่ว่านี้ เปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ถ้าอายุรกรรมแพทย์ 2 คนใช้ทุนราชการครบ อาจจะออกไปทำเอกชนที่สบายกว่า ผลตอบแทนดีกว่า หรือท่านที่มีอยู่ คนที่เหลืออยู่เพราะเห็นแก่โรงพยาบาล หรือคนไข้เกิดหมดแรงเพราะภาระเพิ่มขึ้นอีกจากคนที่ขาดไป ความผิดพลาดอ่อนล้าจะเกิดขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน ยังไม่นับการขาดแคลนและภาระงานล้นของพยาบาล หรือบุคลากรของโรงพยาบาลที่หน่วยงานอื่นๆ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังบอกอีกว่า ที่เขียนมานี้เป็นส่วนน้อยที่ตัดมาจากข้อมูล ตัวเลข และคำบรรยายหลายหน้ากระดาษที่ลูกศิษย์รุ่นน้องส่งมาให้ 

จุดประสงก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาระงานที่ต้องแบกนี้มีประมาณขนาดไหน จากความซับซ้อนของตัวโรค ความคาดหวังของผู้ป่วย ความขาดแคลนบุคลากรแพทย์ ขาดเวลาที่จะเอาใจใส่ได้ทั่วถึง ถูกทับถมด้วยการบ่นว่าจากคนไข้ 

ถ้าจะเกิดความผิดพลาด เช่น รักษาช้า ให้ยาได้ไม่ตามกรอบที่กำหนดและอื่นๆ เวลาที่ถูกสอบสวนก็จะพบว่าผิดเต็มประตู แต่เคยมีใครพินิจพิเคราะห์หรือไม่ และบอกกับสังคมหรือไม่ ว่าในขณะนั้นแพทย์มีภาวะรับผิดชอบกับผู้ป่วยอื่นๆ อีกมากขนาดไหน ผลการรักษาที่ถูกตำหนิ หรือถูกขึ้นโรงขึ้นศาลอาจจะ 1 ราย แต่มีคนไข้อื่นๆ ที่ดีขึ้น หรือรอดชีวิตกี่รายที่แพทย์ท่านนั้นได้ช่วยไว้

ถึงตรงนี้ ตนซึ่งทำงานในโรงเรียนแพทย์รู้สึกว่าเหมือนอยู่ในสวรรค์ ทั้งนี้ภาระงานต่างกันมหาศาล เพราะเรามีแพทย์ประจำบ้านเป็นตัวช่วย โดยที่มีส่วนทดแทนด้วยด้านวิชาการ การสอน หรือการวิจัย

พร้อมตั้งคำถาม จะทำอย่างไรเพื่อไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่อยากเห็นแพทย์ที่ยังทนอยู่ในราชการได้ก็จะทำไปโดยหน้าที่ ไม่มีหัวใจ ขาดความกระตือรือล้น ทำไปวันๆ ที่มีโอกาสมีทางออกก็เปลี่ยนอาชีพ หรือทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งงานเบากว่า และมีค่าตอบแทนสูงกว่าลิบลับ เพราะฉะนั้นที่ปรากฏอยู่ขณะนี้จะเป็นการกรองคนดีออกจากระบบหรือเปล่า

ตนจำได้ เคยอภิปรายในงานวิชาการประจำปีของท่านอัยการ ผู้พิพากษา เคยเสนอท่านว่าน่าจะมีตัวแทนของฝ่ายกฏหมายเข้ามาใช้ชีวิตในโรงพยาบาลอย่าง น้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อเข้าใจชีวิตของแพทย์ที่มีงานหนัก และมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขอย่างปัจจุบันทันด่วนด้วยอยู่เสมอ และต้องอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือมีแต่อาจยังขาดประสบการณ์ในการใช้ รวมทั้งอยู่ในสภาพที่ต้องตื่นตัวรับวิชาการแขนงใหม่ๆอยู่ตลอด

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า

สรุป 2023

บนหอคอย รับกันได้แล้วว่า

คนไม่พอ กับงาน

ไม่ใช่แต่หมอ พยาบาล แต่ทุกส่วน

และไม่ใช่แต่จำนวนอย่างเดียว

ที่ขาดคือความรู้ ประสบการณ์ การตัดสินใจ

ขาดพี่เลี้ยง

ขาดความมั่นคงในชีวิต

ความรู้สึกปลอดภัย

ขาดมันทุกอย่าง