พระตำหนักดอยตุง บ้านของ “สมเด็จย่า”

ทุกความทรงจำเมื่อระลึกถึง “สมเด็จย่า” ยังคงตราตรึงอยู่ ณ พระตำหนักดอยตุง บ้านหลังแรกของสมเด็จย่า สร้างโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์

วันนี้ จัน จะมาเล่าเรื่องราวที่ได้มีโอกาสขึ้นไปที่ ดอยตุง จังหวัดเชียงราย จะบอกว่าบรรยากาศที่นี่ดีมากเลยค่ะ อากาศสดชื่น และร่มรื่นมาก หายใจเข้าไป ทำให้ปอดโล่งสุดๆ แต่ที่จันพลาดไม่ได้เมื่อไปถึงดอยตุง คือ ต้องไปที่พระตำหนักดอยตุง ของสมเด็จย่า บ้านไม้ทรงไทย ล้อมรอบด้วยดอกไม้สีสดสวยงาม เป็นสถานที่แห่งความทรงจำ ครั้นเมื่อสมเด็จย่ายังอยู่

พระตำหนักดอยตุง พระตำหนักสมเด็จย่า

“สมเด็จย่า” หรือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโอรส ธิดา ทั้งหมด 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาล 8) และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) สมเด็จย่า คือ พระมารดาที่ดูแลโอรส และธิดา ที่เริ่มจากการเป็นแม่ตัวอย่างให้แก่ลูก ที่ทำให้เห็นทั้งความปราดเปรื่อง หลักแหลม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน

สำหรับ พระตำหนักดอยตุง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เมื่อสมเด็จย่า มีพระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์จึงได้เลือกดอยตุงซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม ขณะเดียวกันสมเด็จย่า เมื่อทอดพระเนตรพื้นที่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุง

พร้อมกันนี้ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะปลูกป่าบนดอยสูง จึงกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้วยังมีการฝึกอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียวกันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้

พระตำหนักแห่งนี้ ถือเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จย่า พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีและเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชม สถาปัตยกรรมของพระตำหนักเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ สร้างบนไหล่เนิน มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา

พระตำหนักมี สองชั้น และชั้นลอยชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว ที่โดดเด่นสะดุดตา คือ กาแลและไม้แกะสลัก เป็นเชิงชายลายเมฆไหลที่อ่อนช้อยโดยรอบภายในตำหนักล้วนใช้ไม้สน และไม้ลังที่ใส่สินค้า เป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่สวยงาม จุดน่าสนใจอีกจุดคือ เพดานดาว ภายในท้องพระโรง แกะสลักขึ้นจากไม้สนภูเขาเป็น กลุ่มดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะ ชมได้อย่างไม่รู้เบื่อ ส่วนบริเวณผนังเชิงบันได แกะสลักเป็นพยัญชนะไทย พร้อมภาพประกอบภายหลังการสวรรคตของสมเด็จย่า

พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ ไว้เป็นอย่างดี และบางครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชกรณียกิจที่จังหวัดเชียงราย ก็จะเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้

ผ้าผืนสุดท้าย…ที่สมเด็จย่ายังปักไม่เสร็จ

สมเด็จย่า ท่านทรงทำงานอยู่ตลอด แต่ในอีกมุมของพระองค์ ทรงมีพระปรีชาในการทรงงานอดิเรก คือการปักผ้าให้เป็นรูปต่างๆ แม้ช่วงเวลาว่าง ท่านยังทรงงานให้เกิดประโยชน์กับเวลาที่ผ่านไป จัน ได้เข้าชมภายในพระตำหนักดอยตุง และพบกับรูปนกเกาะบนกิ่งไม้ พร้อมกับอุปกรณ์ที่ใช้ปัก วางไว้ในตู้กระจกใส ซึ่งผลงานการปักผ้าที่จันได้พบนั้น คือผลงานการปักผ้าผืนสุดท้าย ที่พระองค์ยังปักไว้ไม่เสร็จ ในตำหนักแห่งนี้ ยังคงเหลือไว้ซึ่งทุกความทรงจำของสมเด็จย่า

สวนแม่ฟ้าหลวง

ดอกไม้เมืองหนาวในหุบเขา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เดิมมีพื้นที่ 12 ไร่ มีการปลูกดอกไม้หมุนเวียนสลับ ให้ออกดอกไม่ซ้ำกันตลอดสามฤดู ล้อมรอบประติมากรรมชื่อ “ความต่อเนื่อง” เป็นรูปเด็กยืนต่อตัวที่กลางสวน นอกจากนี้ ยังจัดแต่งสวนหินซึ่งประดับด้วยหินภูเขากลมเกลี้ยงขนาดใหญ่ สวนน้ำอุดมด้วยไม้น้ำพันธุ์ต่างๆ บัว และสวนปาล์มที่รวบ รวมปาล์มไว้มากมายในพื้นที่ 13 ไร่ สวนแม่ฟ้าหลวงจึงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 25 ไร่

ปีนี้ดอกไม้ดอยตุง สวยมากๆ ล้วนเป็นดอกไม้ที่สมเด็จย่ารักมาก คิดถึงสมเด็จย่าเหลือเกิน