เรื่องน่ารู้ กับความหมายระหว่าง อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย แตกต่างกันอย่างไร

คลายข้อสงสัยความเหมือนและความต่าระหว่าง อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย จะมีความหมายความเชื่อที่มาอย่างไร ? แล้วมีวิธีอะไรที่จะขออั่งเปาให้ได้เยอะๆ

ยิ่งใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนเข้าไปเท่าไร อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนจะต้องนึกถึงโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต่างรอลุ้นนั่นก็คือ..แต๊ะเอีย หรือ อั่งเปา  เอ๊ะ! แต่พอพูดถึงขึ้นมาก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แต๊ะเอีย กับ อั่งเปา ต่างกันอย่างไร ซึ่งทั้งสองคำมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว มาดูคำแปลและความหมายของทั้งสองคำกันว่าเริ่มต้นมาอย่างไร ?

ซึ่งแนวคิดเงินต่อเงิน เริ่มจากช่วงส่งท้ายปีเราต้องมีเตรียมเงินก้นถุงติดตัวไว้เพื่อใช้เป็นเงินต่อเงินในปีต่อไปให้ไม่ขาด ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “ยาซุ่ยเฉียน” ส่วนแต้จิ๋วเรียกว่า “เอี๊ยบส่วยจี๊” แปลว่า “เงินกด (ท้าย) ปี” สำหรับ คำว่า  “แต๊ะเอีย” เป็นคำศัพท์จากภาษาแต้จิ๋วโดยคำว่า ‘แต๊ะ’ หมายถึง ติดหรือกด ส่วน ‘เอีย’ มีความหมายว่าเอว รวมกันแล้วจึงหมายความว่า “ทับเอว ถ่วงเอว” เพราะเงินสมัยก่อนเป็นโลหะ นิยมเก็บใส่ไถ้ (ถุงผ้ายาว) เนบเอวไว้ หรือใช้เชือกร้อยผูกไว้กับเอว การให้เงินก้นถุงท้ายปีจึงถือเป็นการ “ถ่วงเอว”

ในภาษาพูดแต้จิ๋วเรียกการให้เงินแบบนี้อีกอย่างว่า “เอี๊ยบโต๋วเอีย” แปลว่า “ถ่วงเอี๊ยม” โดยปกติเอี๊ยมที่เด็กจีนคาดจะมีกระเป๋าอยู่ข้างหน้า เงินที่ผู้ใหญ่ให้จะใส่ไว้ในกระเป๋านี้ ถ่วงให้เอี๊ยมหนักขึ้นเพื่อเป็นเงินมงคล ให้เด็กมีเงินติดกระเป๋าไว้เพื่อต่อเงินในปีใหม่และเป็นการสอนเด็กให้รู้จักเก็บออม ต้องมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าตลอดทั้งปี อีกทั้งเงินพิเศษโบนัสที่ห้างร้านหรือนายจ้างให้แก่ลูกจ้างก็เรียกว่าแต๊ะเอียด้วยเหมือนกัน


สมัยราชวงศ์ชิงการให้เงินแตะเอียแพร่หลายไปทั่ว ถึงคืนสิ้นปีผู้ใหญ่จะเอาด้ายแดงร้อยเงินเหรียญกษาปณ์เป็นพวงไปวางไว้ที่ขาเตียงนอนเด็ก ภายหลังนิยมใช้กระดาษแดงห่อเงินแทน จึงเรียกเงินนี้ว่า “อั่งเปา” หมายถึง “เงินห่อกระดาษแดง/ซองสีแดง” ซึ่งคำว่า ‘อั่ง’ หมายถึง สีแดง และ ‘เปา’ แปลว่า ซอง ตามรากศัพท์ภาษาแต้จิ๋ว ให้เพื่อเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ในภาษาจีนกลางก็ใช้คำว่า หงเปา ที่คำว่า ‘หง’ แปลว่า สีแดง เช่นเดียวกันและไม่ได้ให้เฉพาะแค่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น ยังสามารถใช้ในเทศกาลมงคลอื่นๆ

ตำนานเรื่องเล่า “อั่งเปา”

มีความเชื่อของคนโบราณที่ว่ามีผีร้ายตนหนึ่งชื่อ “ซุ่ย” ตัวดํามือขาว ตากลมน่ากลัว ทุกคืนสิ้นปีจะออกมาหลอกหลอนทําร้ายเด็ก หากเด็กคนใดถูกมันจับหัวก็จะตัวร้อนเป็นไข้แล้วกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน ผู้คนกลัวลูกหลานตนถูกผีร้ายตนนี้ทําร้าย จึงจุดโคมไฟอยู่เฝ้าลูกหลานตลอดทั้งคืน เรียกว่า “เฝ้าซุ่ย”

ต่อมาที่เมืองเจียซิง (มณฑลเจ้อเจียง) มีผู้เฒ่าแซ่ก่วน ได้ลูกชายเมื่อชรา เขาเล่นกับลูกในคืนสิ้นปีจนเผลอหลับไป เงินเหรียญที่ห่อกระดาษแดงไว้ 8 อันกระจายอยู่รอบหมอนที่เด็กน้อยหนุนอยู่ พอผีร้าย “ซุ่ย” จะมาจับต้องตัวเด็กก็เกิดรัศมีสีทองแผ่พุ่งออกมาจากหมอนทําให้ผีร้ายหนีไป ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเอากระดาษแดงห่อเหรียญกษาปณ์วางไว้ข้างหมอนลูกหลานในคืนวันสิ้นปี

ยังคงมีอีกตํานานหนึ่งกล่าวว่าในทะเลตะวันออก มีถ้ำที่โคนไม้บนภูเขาในทะเลนั้นเป็นที่รวมของภูตผีปีศาจ แต่ปกติจะมีเทพทวารบาลเฝ้าคุมอยู่ พอถึงวันสิ้นปี เทพผู้เฝ้าคุมกลับสวรรค์ บรรดาผีร้ายซึ่งมีสัตว์ประหลาดชื่อ “เหนียน-ปี” เป็นหัวหน้าจะออกอาละวาดตามบ้านคน ผู้คนจึงจุดไฟสว่างทั้งคืน “เฝ้าปี” เพื่อป้องกันภูตผีและสัตว์ร้ายผีเหล่านี้กลัวแสงไฟจึงลอบเข้าห้องนอนเด็ก เมื่อเห็นเงินห่อกระดาษแดงข้างหมอนก็ดีใจ หยิบแล้วโลดแล่นออกจากห้องไปหาความสนุกสนานที่อื่นต่อโดยไม่ทําร้ายเด็ก จึงเกิดประเพณีเอาเงินห่อกระดาษแดงวางไว้ข้างหมอนเด็กในคืนวันสิ้นปี เพื่อป้องกันไม่ให้ภูติผีปีศาจทําร้ายเด็ก

สำหรับจุดเริ่มต้นของการให้เงินแต๊ะเอียแก่เด็กน่าจะเพื่อให้เด็กมีเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ซื้อของกินของเล่นในเทศกาลตรุษจีนนี้แต่ประเด็นหลักๆก็เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เด็ก และเป็นเงินขวัญถุงให้เด็กรู้จักเก็บหอมรอมริบ ไม่ฟุ่มเฟือยใช้จนหมดมีเงินติดตัวอยู่ตลอดเวลา โดยการให้เงินแตะเอียแก่เด็ก ๆ ตามธรรมเนียมเก่าส่วนมากเป็นตอนกลางคืน หลังจากทานอาหารประจำปีแล้ว เด็ก ๆ จะพากันไปอวยพรผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะอวยพรตอบและแจกเงิน “แต๊ะเอีย” แต่บางคนอาจเอาไปสอดไว้ใต้หมอนตอนเด็ก ๆ หลับหรือมีวิธีแจกที่แตกต่างออกไปจากนี้อีกหลายวิธีแล้วแต่ครอบครัว

เกร็ดน่ารู้การขอ “อั่งเปา” 

“ อั่งเปาตั่วตั่วไก๊ ” ภาษาแต้จิ๋วที่ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนต้องจำคำนี้ให้ขึ้นใจเพราะมีความหมายว่า “ขออั่งเปาอีกเยอะๆ” คงมีอีกหลายคนสงสัยว่าควรให้อั่งเปาเท่าไหร่ ? ส่วนใหญ่นิยมให้เงินในซองอั่งเปาเป็นเลขคู่ เพราะถือเป็นตัวเลขมงคล นอกจากผู้ใหญ่จะมอบซองอั่งเปาให้เด็กๆ หรือคนที่มีอายุน้อยกว่าแล้ว สำหรับคนที่ทำงานแล้วก็ยังถือโอกาสนี้ มอบซองอั่งเปาให้กับพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่เช่นกัน

ถึงจุดนี้หลายๆคนก็คงเข้าใจความหมายของ อั่งเปา และ แต๊ะเอีย ว่าเกี่ยวข้องการเรื่องเงินๆทองๆเหมือนกัน โดยความแตกต่างจะอยู่ อั่งเปา เป็นคำนาม หมายถึง ซองใส่เงินสีแดง ส่วน แต๊ะเอีย เป็นคำกริยา หมายถึง การผูกเงินไว้กับเอว สำหรับตรุษจีนปีนี้ขอให้เพื่อน ๆ ได้แต๊ะเอียรับอั่งเปากันเต็มกระเป๋านะคะ… “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ อั่งเปาตั่วตั่วไก๊”

ขอบคุณข้อมูล ศิลปวัฒนธรรม + says.com + สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

คลิปอีจันแนะนำ
เปิดแผนโคตรเหี้ยม คลั่งยาฆ่าชิงทรัพย์