ครม. อนุมัติ วาฬสีน้ำเงิน ให้เป็นสัตว์ป่าสงวน

ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดให้ วาฬสีน้ำเงิน เป็นสัตว์ป่าสงวน ร่วมกับ นกชนหิน เพื่อการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวด

วันนี้ 23 พ.ค.66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน(ฉบับที่…)  พ.ศ…..

มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้วาฬสีน้ำเงิน (Balaenptera musculus) เป็นสัตว์ป่าสงวน ร่วมกับนกชนหิน หรือ นกหิน (Buceros vigil หรือ Rhinoplax vigil) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.ฎ. ที่ ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 6 ก.ย.65 

โดยหลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อรวม พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายฉบับเดียวต่อไป ตามขั้นตอนของมาตรา 6 วรรคสอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่ออีกว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN) ได้ขึ้นบัญชีให้วาฬสีน้ำเงินมีสถานะเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species : EN)หรืออยู่ในบัญชี  IUCN Red List ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขึ้นบัญชีวาฬสีน้ำเงินเป็นชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน (Thailand Red Data)

เมื่อกฎหมายมีผลบังคับให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแล้วทั้งวาฬสีน้ำเงิน และนกชนหินหรือนกหิน จะได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวน ทั้ง 4 จำพวก 19 ชนิด ได้แก่ 

1) สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนำ เช่น กระซู่ กวางผา 

2) สัตว์ป่าจำพวกนก เช่น นกกระเรียน 

3) สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่ามะเฟือง

4) สัตว์จำพวกปลา เช่น ปลาฉลามวาฬ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนจะเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน วาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ป่าควบคุม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวาฬสีน้ำเงินเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ ในประเทศไทยเองมีข้อมูลการพบเห็นวาฬสีน้ำเงินเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเพียง 3 ครั้ง แต่เนื่องด้วยในอดีตถูกล่าจับเป็นจำนวนมากเพื่อนำเนื้อและไขมันมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ขณะที่แหล่งอาหารที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเป็นกรดในทะเล ส่งผลต่อการสืบพันธุ์

คลิปอีจันแนะนำ
อีจันอยากเจอ ไพ่พรหมญาณ ศาสตร์ที่ทั่วโลกยอมรับ