ขาลงการท่องเที่ยวไทย ถูกเวียดนามแซง

ขาลงการท่องเที่ยวไทย ถูกเวียดนามแซง แหล่งท่องเที่ยวเก่าเสื่อมโทรม ขาดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่

คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว

ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการสร้างกลยุทธ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างโดยน้ำมือมนุษย์ (Man-made Destinations) หรือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ (Natural Attractions)

รัฐบาลยังขาดนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างยั่งยืน เรายังคงพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวเดิม ๆ โดยขาดการใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ขาดการให้การศึกษาแก่นักท่องเที่ยวไทย ที่ยังคงทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่องโดยขาดจิตสำนักด้านการอนุรักษ์ ผู้ประกอบการในพื้นที่ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ก็มีแต่การฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจโดยไม่ใสใจถึงผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบกับธุรกิจของตนเองในระยะยาว ปัจจัยลบดังกล่าวทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เกิดการทรุดโทรมโดยขาดการดูแลจากภาครัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมหลักของประเทศที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมากมายมหาศาลต่อเนื่องมาหลายสิบปี ก่อให้เกิดรายได้ต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและแรงงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ประเทศยังคงพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวเดิม ๆ โดยขาดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีกลยุทธ์หรือฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ที่กำลังทรุดโทรมลงทุก ๆ ปี นอกจากนั้น ประเทศไทยยังคงเน้นที่จำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าคุณภาพด้วยการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ก่อให้เกิดมาเฟียต่างชาติและธุรกิจสีเทาในพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยขาดการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานในพื้นที่ ตามมาซึ่งปัญหาด้านความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวโดยรวมทั้งไทยและต่างชาติ

บางพื้นที่ธุรกิจต่าง ๆ ถูกผูกขาดโดยชาวจีน รัสเซีย อิสราเอล อินเดีย เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและให้บริการอื่นๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเกิดความเบื่อหน่ายและเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวของตนเองไปยังประเทศอื่น และหากประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งเป้าการเติบโตของจีดีพีประเทศไทยอยู่ที่ 1.8% ในขณะที่ธนาคารโลกหรือ World Bank ตั้งเป้าการเติบโตของจีดีพีไทยอยู่ที่แค่ 1.6% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและชะลอตัว โดยประเทศไทยมีการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 2.5% ในปีที่แล้ว ในขณะที่มูดีส์ (Moody’s) ได้ลดอันดับความน่าเชื่อของเศรษฐกิจไทยจากเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ หรือ Stable Outlook เป็นเศรษฐกิจเชิงลบหรือขาดซึ่งเสถียรภาพ (Negative Outlook) โดยการลดความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจดังกล่าวมีผลต่อภาพลักษณ์โดยรวมและความเชื่อถือของประเทศ การปรับลดความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นผลมาจากความเข้มแข็งทางการคลังและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง และจากปัจจัยข้างต้น ประเทศไทยจึงไม่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยสร้างเม็ดเงินมหาศาลและช่วยพลิกฟื้นจีดีพีของประเทศเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้รายงานการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เดินทางระยะไกล หรือ long-haul tourists ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ว่ามีการเพิ่มขึ้นยกกระดาน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 97.43% อิตาลี่ที่เพิ่มขึ้น 28.60% และฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้น 22.65% ในขณะที่นักท่องเที่ยวจาก สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 20.61% เนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 17.88% สเปนเพิ่มขึ้น 17.75% ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 16.52% ซาอุดิอาราเบียเพิ่มขึ้น 15.26% เยอรมนีเพิ่มขึ้น 13.14% และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 12.83% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวระยะไกลอาจเทียบไม่ได้กับนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและญี่ปุ่นหายไปถึง 30-40% ในช่วงเวลาดังกล่าว

บางกอกโพสต์ เลิร์นนิ่ง (Bangkok Post Learning) ได้รายงานเสียงสะท้อนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นราคาตั๋วเครื่องบินและห้องพักโรงแรมในสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นพัทยา ภูเก็ต สมุย หรือเกาะช้าง ที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยวของตนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เสนอราคาการท่องเที่ยวที่ถูกและคุ้มค่ากว่า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะจากคนไทยที่ชอบใช้ความรุนแรงต่อนักท่องเที่ยว ปัญหาตำรวจรีดไถ ปัญหามาเฟียท้องถิ่นโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ชอบหากินกับนักท่องเที่ยว ปัญหาสุขอนามัยในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะในพื้นที่ สาธารณูปโภค เช่นถนน และฟุตบาท ที่ทรุดโทรมขาดการดูแล ปัญหาท่อระบายน้ำและการระบายของเสียในพื้นที่ เป็นต้น ประเทศไทยยังถูกท้าทายด้วยประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนาม ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น รถไฟความเร็วสูงและกระเช้าลอยฟ้า เป็นต้น รวมถึงการนำเสนอแพ็คเกจการท่องเที่ยวในราคาที่ถูกกว่าไทยมาก

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการศึกษาและทักษะของบุคลากรการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการใส่ใจด้านบริการและความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สำหรับประเทศไทยแล้ว เราต้องปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการนักท่องเที่ยวหากเราต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ไม่ใช่การเน้นที่ปริมาณเหมือนในปัจจุบัน

เวียดนามเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเน้นที่ผสมผสานทั้งสถาปัตยกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นและธรรมชาติให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเวียดนามนับเป็นคู่แข่งการท่องเที่ยวเบอร์ 2 รองจากญี่ปุ่น โดยในปีที่แล้วนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่ 1-2 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนได้ไปเที่ยวเวียดนามมากกว่ามาเที่ยวประเทศไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยแพ้ญี่ปุ่นทั้ง 3 มิติ คือ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวรวม 2.จำนวนนักท่องเที่ยวจีน และ 3.ไทยขาดดุลญี่ปุ่นในจำนวนนักท่องเที่ยว คือคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่าญี่ปุ่นมาเที่ยวไทย

โดยในปีนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเริ่มแพ้เวียดนามในบางมุม เดือนมีนาคมปี 2568 ถือเป็นเดือนแรกที่นักท่องเที่ยวชาวจีนไปเที่ยวเวียดนามมากกว่ามาเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวเวียดนามจำนวน 630,000 คน ในขณะที่มาเที่ยวไทยไม่ถึง 300,000 ซึ่งต่างจากเดิมที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทยที่สูงกว่าไปเที่ยวเวียดนามถึงหนึ่งเท่าตัว ในไตรมาสแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวเวียดนามทำ new high หรือโตขึ้นถึง 30% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยเริ่มติดลบในช่วง 2 เดือนหลังของไตรมาส 1 ปีนี้ โดยนักท่องเที่ยวจีนที่เที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 78% ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทยติดลบถึง 45%

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้น 28.5% ที่ 2.05 ล้านคน ในเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งโตจากเดือนกุมภาพันธ์ 23.7% ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 79.1% ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 9.9% รัสเซียเพิ่มขึ้น 112% ไต้หวันเพิ่ม 10.6% อังกฤษเพิ่ม 22% เยอรมันเพิ่ม17.7% ฝรั่งเศสเพิ่ม 25.4% โดยเวียดนามเองตั้งเป้าที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 23 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 17.5 ล้านคนในปีที่แล้ว (2567) และจาก 12.6 ล้านคนในปี 2566

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลไทยควรหันมามองปัญหาด้านอุปทาน (Supply Side) ของการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความทรุดโทรมของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ปัญหามาเฟียข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวและประกอบธุรกิจตามเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาด้านความสะอาดและสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ การปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน นอกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ดูแลด้านอุปสงค์ ได้แก่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการหาตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ประเทศไทยยังควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาอุปทานการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทำให้ประเทศไทยน่าเที่ยว ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวดีขึ้น ยกระดับผู้ประกอบการให้สะดวก สะอาด ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ต้องมีเรื่องราวหรือ Story ที่น่าติดตาม สร้าง ประสบการณ์ประทับใจ หรือ Wow Experience ที่ยั่งยืน

ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี

ขอบคุณภาพจาก : https://allianz-assistance.co.th/travel/12-best-places-to-visit-in-vietnam/