รู้จัก ITV (ไอทีวี) ทีวีเสรี ในวันที่เคยบูมก่อนจอดับ

วันนี้ “ไอทีวี” หรือสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กลับมาถูกพูดถึง ในวันที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล และเตรียมโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพราะอะไร มาทำความรู้จักไอทีวีกัน

ชื่อของ “ไอทีวี” กลับมาถูกพูดถึงในห้วงเวลานี้อีกครั้ง

เนื่องจากช่วงก่อนเลือกตั้งมี ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหนึ่ง ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น จึงต้องการให้ กกต.ตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอการสรุปอีกครั้ง

ขณะที่วันนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้ง 2566 และกำลังเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล

วันนี้ “อีจัน” จะพาทุกท่านย้อนไปถึงวันวานในครั้งที่ “สถานีโทรทัศน์ไอทีวี” รุ่งเรืองจนถึงวันจอดำ

27 ปีที่แล้ว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เวลา 19.00 น.

โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอ ข่าวภาคค่ำประจำวัน ข่าวเช้าไอทีวี ข่าวเที่ยงไอทีวี ข่าวค่ำไอทีวี

เป็นสถานีข่าวและสาระความรู้ โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานี คือ กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง ออกอากาศทางช่อง หมายเลข 26 และต่อมาได้ย้ายไปออกอากาศทางช่องหมายเลข 29 โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ และผู้กำกับสัมปทาน เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ก่อตั้งเป็นแห่งที่ 6 ของประเทศไทย

ไอทีวี ได้รับความนิยมมากในช่วงเวลานั้น เนื่องด้วยมีรายการข่าว และรายการสารคดีเชิงข่าว ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ข่าวภาคค่ำ, ไอทีวี ทอล์ค, สายตรงไอทีวี, ถอดรหัส, ย้อนรอย ทำให้ไอทีวีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในการนำเสนอข่าวสารในเวลาต่อมา รวมถึงการเป็นผู้นำในเชิงข่าวสืบสวนสอบสวนอีกด้วย

สำหรับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เกิดมาจากดำริของรัฐบาลในสมัยที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อการนำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้สู่ประชาชน โดยเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทาน ให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

โดยในโครงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าวนั้น ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งไว้ว่า

ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สถานีโทรทัศน์ทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งสามารถบิดเบือนการนำเสนอข่าว ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ข่าวที่ทหารเข้าปราบปรามประชาชนในช่วงนั้นได้ ประจวบเหมาะกับการที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชน ให้รัฐบาลใช้นโยบายจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าว เพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และรายการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2538 สปน.ได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรีขึ้น โดยกลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับอนุมัติให้ดำเนินงาน โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ ในระบบยูเอชเอฟ ออกอากาศทางช่อง 26 นับเป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟช่องแรกของประเทศไทย จากนั้น กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการสถานีฯ โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทานฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหุ้น และบริหารสถานีฯ ด้วย

20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 บจก.สยาม อินโฟเทนเมนท์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และในราวปี พ.ศ. 2542 หน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณให้กับไอทีวี จากช่อง 26 มาเป็นช่อง 29 โดยส่งสัญญาณจากยอดอาคารใบหยก 2 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายมากที่สุด ครอบคลุมจำนวนผู้รับชม ประมาณร้อยละ 98 ของประชากรในประเทศไทย

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของ บมจ.ไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่แสดงความจำนงจะขายหุ้น หลังประสบปัญหาในการบริหารสถานีฯ ส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวของสถานีฯ บางส่วนไม่เห็นด้วย และเมื่อบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นเป็นผลสำเร็จ กลุ่มผู้บริหารและพนักงานฝ่ายข่าวบางส่วน ที่นำโดย เทพชัย หย่อง ตัดสินใจลาออกจากสถานีฯ และหลังจากนั้น ไอทีวีก็เคลื่อนย้ายที่ทำการ จากอาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า มาอยู่บนอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต

ประมาณปี พ.ศ. 2546 นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอร์น ออพปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด และ จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บมจ.ไอทีวี พร้อมเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 10 และมีผลให้นายไตรภพมีสถานะเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีด้วย

เมื่อเข้าบริหารไอทีวี นายไตรภพได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถานีฯ ใหม่ในหลายด้าน เช่น เปลี่ยนแปลงเวลานำเสนอข่าวภาคค่ำ จาก 19.00 น. มาเป็น 18.00 น., ปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอรายการประเภทข่าวใหม่ และเปลี่ยนแปลงผังรายการในช่วงเวลา 15.00-24.00 น. โดยเพิ่มเติมรายการข่าวและบันเทิง

วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน.ลดค่าสัมปทานแก่สถานีฯ เป็นเงิน 230 ล้านบาท ตลอดจนการปรับเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงในผังรายการ เป็นร้อยละ 50 เท่ากับรายการข่าวและสาระ รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยโดย สปน. ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ บมจ.ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานสำหรับเช่าเวลาออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และต้องปรับเพิ่มสัดส่วนให้รายการข่าวและสาระ เป็นร้อยละ 70 ต่อรายการบันเทิง ร้อยละ 30 ตามเดิม นอกจากนี้ บมจ.ไอทีวี ยังต้องเสียค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี คิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี

จากนั้น สถานีฯ จึงต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกอากาศโดยทันที ประกอบกับที่ผู้ผลิตรายการบางส่วน เริ่มถอนรายการออกจากสถานีฯ เป็นผลให้ความนิยมของสถานีฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศให้ บมจ.ไอทีวี ชำระค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 เป็นจำนวนเงินรวม 464 ล้าน 5 แสนบาท มาชำระกับ สปน.ภายใน 45 วัน และให้ชำระค่าปรับ กรณีทำผิดสัญญาเรื่องปรับผังรายการ อีกกว่า 97,760 ล้านบาท

ทั้งนี้ สปน.กับ บมจ.ไอทีวี ได้เปิดการเจรจา ขอให้ต่อเวลาเรียกชำระออกไปอีก 30 วัน ไปสิ้นสุดในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 แต่อย่างไรก็ตาม บมจ.ไอทีวี ก็ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ให้กับ สปน.ได้ ที่สุดแล้ว ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี ระหว่าง สปน.กับ บมจ.ไอทีวี และสั่งให้ยุติการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 00.00 น.

รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง (รวมอายุสัมปทาน 11 ปี 8 เดือน 4 วัน)

ต่อมา บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน ได้เสนอข้อพิพาท กรณี สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบ โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดว่า สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ ไอทีวี และ ไอทีวี ก็ต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างเช่นกัน คำชี้ขาดจึงสรุปว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อกัน ทั้งนี้ สปน. ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครองกลาง และในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ศาลปกครองกลางพิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คดีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ทั้งนี้ บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน ยังประกอบกิจการให้บริการทางสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์อยู่

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (Independent Television หรือ itv) เป็นสถานีโทรทัศน์ทีวีเสรี ก่อตั้งโดย บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้คือ “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” (Thai PBS) (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) (ส.ส.ท.)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :

https://yarmfaojor.net/content/1986

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5

คลิปอีจันแนะนำ
‘พิธา’ ประกาศตั้งรัฐบาลเพื่อประชาชน เคารพเสียงประชาชน