ฟ้องได้! แบงก์ปัดรับผิดชอบ เหยื่อโดนดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

มิจฉาชีพดูดเงินอาละวาดไม่เลิก เหยื่อฟ้องได้เมื่อแบงก์ปฏิเสธรับผิดชอบ ทนายเจมส์แนะหากสอบเจ้าของบัญชีพบไม่มีเอี่ยว แบงก์ต้องคืนเงินครบทุกบาท

ปัจจุบัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีวิธีการหลอกลวงเหยื่อหลากหลายวิธี ส่วนใหญ่มักจะหลอกหลวงเหยื่อให้กดลิงค์และกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือกดลิงค์ เพื่ออนุญาตให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือ และเฝ้าสังเกตการณ์ดูพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือแอบดูรหัสผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ หรืออีกวิธีการหนึ่ง คือ หลอกให้เหยื่อโหลดแอปพลิเคชันไว้ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์การใช้โทรศัพท์มือถือของเหยื่อ

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของเงินในบัญชีของท่านเอง หากมีคนแปลกหน้าส่งลิ้งค์มาให้เรากด ห้ามกดเด็ดขาด ไม่ว่าจะส่งลิงค์มาในรูปแบบใดก็ตาม เช่น ส่งข้อความโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน LINE ข้อความทาง Messenger Facebook หรือ ข้อความในแอปพลิเคชันอื่นๆ

ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับบุคคลแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรเครดิตและเลขด้านหลังบัตรเครดิต 

เมื่อท่านถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารผ่าน แอปพลิเคชันของธนาคาร ให้รีบโทรแจ้งธนาคารนั้นๆ ทันที พร้อมทั้งไปแจ้งความร้องทุกข์ และขอให้พนักงานสอบสวนออกหนังสืออายัดเงินในบัญชีปลายทางทันที ซึ่งแม้จะไม่สามารถอายัดเงินได้ทัน แต่ก็อาจจะช่วยเหลือคนที่อาจจะตกเป็นเหยื่ออีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ท่านยังสามารถที่จะขอให้ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาเงินของท่านรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพหลอกหลวงได้ด้วย

หากธนาคารปฏิเสธความรับผิดชอบ ท่านสามารถใช้สิทธิทางศาล เพื่อยื่นฟ้องธนาคาร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ธนาคารชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ท่านได้ แต่ท่านอาจจะไม่ได้ค่าเสียหายเต็มจำนวน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของท่านเองว่า มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้น มากน้อยเพียงใด โดยศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกา 6233/2564 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ธนาคารชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของบัญชีเป็นเงิน จำนวน 550,000 บาท จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 1,099,999 บาท เนื่องจากเจ้าของบัญชีธนาคาร ก็มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 442 ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

มาตรา 223 ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่ง มาตรา 220 นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

ในส่วนที่ยังขาดอยู่ ท่านสามารถที่จะไปยื่นคำร้องขอให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับท่านได้ โดยยื่นคำร้องดังกล่าวเข้าไปในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าทนายความ แต่ในกรณีที่ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ท่านก็ต้องยอมรับสภาพ หรือรอจนกว่าจะจับกุมผู้กระทำความผิดได้

ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากระบบของธนาคารเองทั้งสิ้น โดยที่ท่านไม่มีส่วนในความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีนี้ธนาคารจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ท่านเต็มจำนวน พร้อมทั้งดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่นๆ (ถ้ามี)

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านระมัดระวัง อย่ารับสายแปลกแปลกที่มักจะอ้างหน่วยงานราชการ เช่น ไปรษณีย์ไทย บริษัทขนส่งเอกชน กรมสรรพากร ดีเอสไอ ปปส. ปปง. เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ของบริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น อย่ากดลิ้งค์ที่ส่งมาในกล่องข้อความ และอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลที่ชักชวนไปทำงานในตลาดออนไลน์ หรือชักชวนให้ทำงานในทำนองเพิ่มยอดไลท์ยอดวิวในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว

คลิปอีจันแนะนำ
บทสรุป คดีแสนสลด “น้องต่อ 8 เดือนหายปริศนา”