การลดโทษ ผู้ต้องขัง หรือ การอภัยโทษ มีหลักเกณฑ์ยังไง ?

ทำความเข้าใจหลักเกณฑ์การลดโทษ ผู้ต้องขัง หรือ การอภัยโทษ มีหลักเกณฑ์ยังไง ?

การอภัยโทษมีเพื่อจูงใจให้ผู้ต้องขังประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยเรือนจำ และพัฒนาพฤติกรรมนิสัย พร้อมกลับประพฤติตน เป็นพลเมืองดีของสังคม โดยให้ได้รับการอภัยโทษตามความร้ายแรงของประเภทคดี และลดหลั่นกันไปตามชั้น ของนักโทษเด็ดขาด ซึ่งนักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ (ไม่ว่าลดโทษหรือปล่อยตัว) ต้องผ่านระยะปลอดภัย คือ ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือรับโทษจำคุกมาแล้ว 8ปี (แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน) และไม่ว่าจะเป็นนักโทษชั้นใด หลังจากนั้นจะมาดูอายุ สุขภาพ การจัดชั้น เพื่อลดโทษ ยกเว้นแต่เป็นการถวายฎีกาเฉพาะราย เป็นตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา รวมทั้งเป็นหลักการสากลการอภัยโทษ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ เป็นการทั่วไป และเป็นการเฉพาะราย

การพระราชทานอภัยโทษ

การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เรื่องการต้องโทษจะมีได้ก็โดยคำพิพากษาของศาลซึ่งทำในนามพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อันนับเนื่องในพระมหากรุณาธิคุณส่วนหนึ่ง การพระราชทานอภัยโทษนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์ และใช้เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดแล้วเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่ต้องรับโทษอีกเลยหรือลดโทษให้มีการรับโทษแต่เพียงบางส่วน ทั้งนี้ผลของการพระราชทานอภัยโทษนั้นหาทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาไม่สามารถแบ่งประเภทของการพระราชทานอภัยโทษได้ ดังนี้

  1. การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ

ในกรณีนี้ ทางราชการจะดำเนินการให้แก่ ผู้ต้องโทษในทุกขั้นตอน โดยที่ผู้ต้องโทษไม่ต้องดำเนินการใด ๆ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานบันพระมหากษัตริย์ เช่น เนื่องในโอกาสพระราชพิธี กาญจนาภิเษก รัชมังคลาภิเษก ฯลฯ เป็นต้น

  1. การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ

เป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามการถวายคำแนะนำของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ ผู้ที่มีสิทธิยื่นเรื่องทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

ได้แก่

– ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุด

– ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง อาทิเช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส

– สถานทูต (ในกรณีที่เป็นนักโทษชาวต่างประเทศ)

หมายเหตุ : ทนายความไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง

ระยะเวลาการยื่นฎีกาทูลเกล้า ฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

  • ผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด

  • ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด

ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

ผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถานหรือกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นกรณีไหน ถ้าติดคุกอยู่ทนายยื่นเรื่องให้ทางพัสดี พิจารณา แล้วถ้าเห็นสมควรก็ส่งต่อให้สำนักเลขาฯ ๆ ตรวจสอบความเป็นจริง ถึงส่งให้พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว

หลักการการอภัยโทษทุกครั้งจะมีการแบ่งผู้ต้องขัง ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ผู้ได้รับการปล่อยตัว

  • ผู้ต้องกักขัง

  • ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

  • ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ที่เป็นผู้เจ็บป่วย พิการ ชราภาพ

  • นักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้พิการ เจ็บป่วย ชราภาพ หรือได้รับโทษจำคุกมานานจนใกล้จะพ้นโทษแล้ว (เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี)

  • นักโทษที่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยจนได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม เหลือโทษไม่เกิน 2 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวจะต้องเป็นนักโทษตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ไม่เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ และไม่เป็นผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง เช่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน คดีทุจริตฯ หรือคดียาเสพติดให้โทษ

  1. ผู้ได้รับการลดโทษ

แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความร้ายแรงของคดี และได้รับการลดโทษ ตามชั้นนักโทษเด็ดขาด

  • คดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 2 จนถึงชั้นกลาง ลดโท1 ใน 5

  • คดีอาญาร้ายแรงตามบัญชีท้าย พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน3 จนถึงชั้นกลาง ลดโทษ1 ใน6

  • คดียาเสพติดรายย่อย ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 5 จนถึงชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 8

  • คดียาเสพติดรายใหญ่ (ต้องได้รับโทษจำคุกมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจะไม่ได้อภัยโทษในครั้งแรก) ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 6 จนถึงชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 9

  1. ผู้ไม่ได้รับการลดโทษ

แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

  • นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิตที่เคยได้รับการลดโทษแล้ว

  • นักโทษคดียาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งได้รับโทษจำคุกมาไม่นาน

  • ผู้กระทำความผิดซ้ำที่ไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

  • นักโทษชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นต้องปรับปรุงมาก หรือกระทำความผิดอาญาร้ายแรง เช่น ฆ่า ข่มขืน จึงถูกจัดเป็นชั้นต้องปรับปรุงมาก หรือกระทำผิดระเบียบวินัยเรือนจำ จึงถูกลงโทษลดชั้น

ตัวอย่างการคำนวณการลดโทษ

สำหรับคดีอาญาทั่วไป นักโทษเด็ดขาดชาย ก. อยู่ในชั้นเยี่ยม กำหนดโทษจำคุก 30 ปี จะได้ลด 1 ใน 2 ตามเกณฑ์ข้างต้น คือจะได้ลด 15 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 15 ปี แต่หากเป็นคดีอาญาร้ายแรง ถ้านักโทษเด็ดขาดชาย ก. เป็นผู้กระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรง มีกำหนดโทษจำคุก 30 ปี และเป็นชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกัน จะได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 คือจะได้ลด 10 ปี ดังนั้น จึงเหลือกำหนดโทษจำคุกอีก 20 ปี

ทั้งนี้ การอภัยโทษถือเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

คลิปแนะนำอีจัน
215 วันทรมานในคุกว้าแดง ครูแดนนี่