กรมอุทยานฯ ชี้แจง! การยุติเก็บเงินผ่าน E-Ticket

กรมอุทยานฯ ชี้แจง! การยุติเก็บเงินผ่าน E-Ticket ขอทำระบบข้อมูลใช้จ่ายให้แม่นยำ ระบุเพื่อแก้ปัญหาแต่งตั้ง คกก.พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรแบบ E-ticket วิเคราะห์และประเมินการใช้งานให้เหมาะสม

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 ​​กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีการยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) โดยอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงระบบใหม่ให้ได้ข้อมูลการใช้จ่ายแม่นยำ

สืบเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนและตรวจรายงานของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นประธาน ที่ประชุมมีการหยิบยกการประกาศยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ธ.ค.66 และที่ประชุมมีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และจะเชิญ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทส. นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ มาชี้แจงถึงเหตุผลในการยกเลิกดังกล่าวและจะเชิญเลขาธิการฯ ป.ป.ช. มาร่วมรับฟังการชี้แจงด้วยนั้น

สำหรับการยุติจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่าน E-ticket เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ โดยได้เปิดให้บริการระบบ E-ticket ในอุทยานแห่งชาตินำร่อง จำนวน 6 แห่ง ได้แก่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 และได้สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ในเดือน ก.ย.66

โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติ ได้อนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการจ้างดูแลระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้หารือร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการจอง การรับเงิน ระบบการสื่อสาร สัญญาณอินเทอร์เน็ต และแก้ไขปัญหาการตัดเงินผ่านระบบที่ไม่ตรงกับวันที่เข้าใช้บริการจริง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและสถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ กรมอุทยาน​แห่งชาติฯ​ ได้เสนอโครงการจัดการพัฒนาระบบบัญชีสำหรับเงินอุทยานแห่งชาติ จาก ป.ป.ช. ภายใต้แผนงานบูรณาการการต่อต้านการทุจริต​และประพฤติมิชอบ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบประมาณ จำนวน 6.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานฯ ให้มีการแยกประเภท​บัญชี บันทึกบัญชีคงค้าง ให้สามารถออกบัญชีทางการเงินที่สามารถเชื่อถือได้ และพัฒนาระบบการรับเงินกลางอิเล็กทรอนิกส์​สำหรับหน่วยงานส่วนภูมิภาค​ (e-payment)​

สำหรับการดำเนินการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบ E-ticket ที่ผ่านมา พบข้อจำกัดในการให้บริการของอุทยานแห่งชาติ และการใช้บริการของนักท่องเที่ยว เนื่องจากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางแห่ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถรองรับระบบดังกล่าวได้ และการกรอกข้อมูลส่วนตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บางส่วนไม่มีความพร้อมในการให้ข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากการจองผ่านระบบ E-ticket ต้องมีการกรอกข้อมูลรายบุคคลประกอบการจอง

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสถิติการจัดเก็บเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า ถึงแม้จะไม่มีการใช้งานผ่านระบบ E-ticket แต่ก็สามารถจัดเก็บเงินรายได้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เอง ดังจะเห็นได้จากสถิติการจัดเก็บเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์​ธารา-หมู่เกาะพีพี ในเดือน พ.ย. 66 เปรียบเทียบกับเดือน พ.ย.65 ที่มีการจัดเก็บเงินรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านบาท และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะ​เสม็ด มีการจัดเก็บเงินรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบในเดือน พ.ย.66 กับเดือน พ.ย.65 เป็นเงิน 5.9 ล้านบาท

จากข้อมูลการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 1 ต.ค. -​ 29 พ.ย.66 มีการจัดเก็บเงินรายได้รวมทั้งสิ้น 302 ล้านบาท และข้อมูลการจัดเก็บเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาตินำร่อง จำนวน 6 แห่ง โดยระบบ E-ticket​ ในระหว่างวันที่ 1 -​ 29 พ.ย.66 พบว่ามีการจัดเก็บเงินทั้งหมด 121 ล้านบาท และจัดเก็บผ่านระบบ E-ticket 40 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 32.87% ของการจัดเก็บเงินรายได้ในภาพรวม

ในระหว่างยุติระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ไว้เป็นการชั่วคราว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะหาแนวทางปฏิบัติในการจองและชำระค่าบริการ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบกิจการนำเที่ยวให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เพื่อติดตามการปฏิบัติงานและชี้แจงแนวทางเกี่ยวกับระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์​ธารา-หมู่เกาะ​พีพี อุทยานแห่งชาติสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์​ที่ 4 (สุราษฎร์​ธานี)​ ซึ่งได้มีการเข้าตรวจสอบการจัดเก็บเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์​ธารา-หมู่เกาะ​พีพี อย่างละเอียดทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ ได้หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีการจองและชำระเงินค่าบริการ ผ่านระบบ E-ticket มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอุทยานแห่งชาติ นำร่องทั้ง 6 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบกิจการนำเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่ใช้งานผ่านระบบ E-ticket ได้รับผลกระทบจากการปิดระบบ เพราะต้องเข้ามาจองและชำระค่าบริการ ณ ที่ทำการของอุทยานแห่งชาติ

จากการสำรวจ พบว่า ผู้ใช้บริการผ่านระบบ E- ticket จาก 100% มีผู้ใช้บริการมีความพร้อมในการจองและชำระเงินบริเวณ​ที่ทำการฯ 70% และอีก 30% เป็นผู้ใช้บริการอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จึงได้หารือแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบกิจการนำเที่ยวและนักท่องเที่ยว ในรูปแบบของการขยายจุดจำหน่ายบัตรค่าบริการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ระบบการจองที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการจองและการชำระค่าบริการถึงกันได้ในระหว่างอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบกิจการนำเที่ยว

โดยให้ผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถจองและชำระค่าบริการได้ในจุดจำหน่ายบัตรค่าบริการของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าใช้บริการในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติสิมิลัน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการนำเที่ยว และเป็นการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกินขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่ โดยจะเร่งดำเนินการให้สามารถจองและชำระเงินในระบบดังกล่าวได้ภายใน 7 วัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสม